Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาวรรณคดีเสภาจำนวน 26 เรื่องในต้านลักษณะเฉพาะ และพัฒนาการด้านรูปแบบ เนื้อหา วัตถุประสงค์ และการนำเสนอ โดยแบ่งวรรณคดีเสภาออกตามยุคสมัยที่แต่งได้ 3 ช่วง คือ วรรณคดีเสภาที่แต่งขึ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วรรณคดีเสภาที่แต่งขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 และวรรณคดีเสภาที่แต่งขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 8 จนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า ด้านรูปแบบนั้น วรรณคดีเสภาใช้รูปแบบของกลอนเสภาที่มักขึ้นต้นวรรคว่า “ครานั้น” เป็นส่วนใหญ่ ต่อมามีพัฒนาการด้านการขึ้นต้นวรรคและชนิดคำประพันธ์ กล่าวคือ ด้านการขึ้นต้นวรรค มีการนำเอากลอนบทละคร และกลอนเพลงยาวมาใช้ในการขึ้นต้นกลอนเสภาด้วย ส่วนด้านชนิดคำประพันธ์ นอกจากกลอนเสภาแล้ว ยังมีการนำเอาโคลง ร่าย ฉันท์ และเพลงพื้นบ้านมาแทรกไว้ด้วย แม้จนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมีการสืบเนื่องของการใช้รูปแบบกลอนเสภาแบบเดิม ส่วนพัฒนาการด้านเนื้อหาของวรรณคดีเสภาพบว่า วรรณคดีเสภา ส่วนมากมีเนื้อหาประเภทนิทาน ภายหลังเพิ่มเนื้อหาอื่นๆ ขึ้นอีก คือ เนื้อหาประเภทสั่งสอน นอกจากนียังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง และเนื้อหาประเภทอำนวยพรด้วย ส่วนพัฒนาการด้านวัตถุประสงค์ของวรรณคดีเสภา แต่เดิมวรรณคดีเสภาส่วนใหญ่มุ่งเล่าเรื่องและยังคงยึดวัตถุประสงค์เช่นเดิมมาโดยตลอด จากนั้นจึงพัฒนาโดยเพิ่มการสั่งสอน การแสดงความคิดเห็น และการอำนวยพร ด้านพัฒนาการในการนำเสนอ วรรณคดีเสภาช่วงแรกใช้ ประกอบการแสดง คือ ใช้ขับสำหรับฟังเพื่อความสนุกสนาน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงเริ่มขับประกอบการแสดงปี่พาทย์ จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่มการนำเสนอในรูปแบบเสภารำ และละครเสภา หลังมีการพิมพ์ และคนมีการศึกษามากขึ้น วรรณคดีเสภาจึงใช้สำหรับอ่านมากยิ่งขึ้นจนถึงในปัจจุบัน จากการศึกษาพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของวรรณคดีเสภาทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของวรรณคดีเสภา 2 ประการ คือ ลักษณะเฉพาะของฉันทลักษณ์ และลักษณะเฉพาะของการเป็นเรื่องเล่า