Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้มีการบัญญัติ รับรองถึงเสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกัน รัฐอาจตรากฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ โดยในการศึกษานี้จะศึกษาถึงขอบเขตและเงื่อนไขในการ ตรากฎหมาย ทั้งที่ให้การรับรองและจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยได้ ศึกษาและวิเคราะห์ถึงแนวคิดและหลักการที่สำคัญของรัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตย ในต่างประเทศ เพราะ ต่างก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จำกัดการใช้อำนาจรัฐที่มิชอบ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการวางแนวทางกฎหมายและทางปฏิบัติของการรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ของประชาชน ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ในบริบททางสังคมที่ต่างภูมิภาคกัน จากการศึกษาพบว่า เสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนมีแนวความคิด ตามกฎหมายธรรมชาติ ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง ที่รัฐต่างๆ ควรให้การรับรองและคุ้มครอง ซึ่งใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ก็ได้รับรองว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายต่างก็ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างหนึ่งอันควรได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่าประเทศไทยก็ได้นำแนวความคิดและหลักการ ดังกล่าวมาบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเป็นหลักการที่ สำคัญเป็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่สื่อมวลชน ในการพูดการเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่างๆ ในอดีตและฉบับปัจจุบันจะ ได้ให้การรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นแก่สื่อมวลชนไว้ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าในปัจจุบัน นี่สื่อมวลชนยังคงถูกแทรกแซงและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการ เสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการขัดหรือแย้งหรือไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ และใน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนอาจจะใช้เสรีภาพของตนไปละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนและอาจมีผลกระทบ กระเทือนต่อผลประโยชน์ของสาธารณะได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงหลักเกณฑ์หรือมาตรการที่จะให้การ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมิให้ถูกละเมิดจากอำนาจรัฐ รวมทั้งศึกษามาตรการในการควบคุมตรวจสอบ สื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นไปละเมิดต่อหลักการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อปกป้อง สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต่อไป