Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงกฎหมายการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักเกณฑ์และสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1956 รวมทั้งศึกษาถึงกฎหมายไทยที่จะมีผลใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์ดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า อนุสัญญาว่าด้วยสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1956 ได้กำหนดถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์ตามสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศไว้เป็นการเฉพาะ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่มีผลใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะทำให้ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ลักษณะรับขน บังคับกับนิติสัมพันธ์ด้งกล่าว อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่มีความทันสมัย และไม่มีความสอดคล้องและไม่เหมาะสมกับนิติสัมพันธ์การรับขนของระหว่างประเทศเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งซึ่งกำหนดไว้เคร่งครัดมาก เนื่องจากกำหนดเหตุยกเว้นความรับผิดโดยข้อกฎหมายไว้เพียงสามประการ รวมทั้งไม่ได้ให้สิทธิในการจำกัดความรับผิดโดยข้อกฎหมายไว้ กรณีจะกระทำได้ก็มีเพียงแต่การตกลงกันระหว่างผู้ส่งและผู้ขนส่งอย่างชัดแจ้งให้ผู้ขนส่งสามารถยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด ทำให้ผู้ขนส่งตามกฎหมายไทยตกอยู่ในฐานะที่ เสียเปรียบเป็นอย่างมากหากต้องแข่งขันกับผู้ขนส่งต่างประเทศ นอกจากนั้น กฎเกณฑ์ในหลายๆ ประการที่ได้รับการยอมรับและบัญญัติไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการรับขนของระหว่างประเทศ ก็ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด ปัญหาในทางกฎหมายดังกล่าวนั้นจึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาระบบการขนส่งและการค้าของประเทศไทย ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะให้นำหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1956 มาเป็นแนวในการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับประเทศไทย เพื่อใช้บังคับคับการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศในทำนองเดียวกับการตราพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 รวมทั้งประเทศไทยควรจะเป็นผู้นำในการจัดทำร่างความตกลงขึ้นใช้บังคับกับนิติสัมพันธ์การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำหลักการที่เป็นที่ยอมรับในภูมิภาคอื่นแล้วมาเป็นพื้นฐานสำหรับ ร่างความตกลงในภูมิภาคนี้ และเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งระหว่างประเทศและผู้ใช้บริการให้ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น