Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบของการส่งเสริมเกษตรของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางต่อการตั้งถิ่นฐานและการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง รวมถึงเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ จากการศึกษา พบว่า การส่งเสริมเกษตรของโครงการหลวงเป็นการวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้งพื้นฐานต่างๆ ส่งผลกระทบให้ชุมชนในพื้นที่โครงการขยายตัวโดยตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นกลุ่ม (Clustered village) และตั้งบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างกระจุกตัวอย่างหนาแน่นมากขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมและบริการต่างๆ รวมถึงมีทิศทางการขยายพื้นที่ของหมู่บ้านสัมพันธ์กับแนวถนนตัดผ่าน (Lined village) โดยพบในหมู่บ้านคุ้มและหมู่บ้านหลวงตามลำดับ ส่วนรูปแบบการใช้ที่ดิน มีการเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกจากการทำไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียนไปสู่การใช้ที่ดินเพาะปลูกถาวร ผลการวิจัยของโครงการหลวงที่แนะนำไปสู่เกษตรกรส่งผลกระทบให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกพืชเมืองหนาวออกไปสู่ใกล้แนวชายแดน มีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้นและเหมาะสมต่อการอนุรักษ์ดินบนที่สูงโดยปลูกพืชผักต่างๆ ในพื้นที่ปลูกไม้ผลยืนต้น และยังพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกเป็นแบบชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดปี ทำให้เกษตรกรมีโอกาสทางการผลิตและการตลาดมากขึ้น ส่งผลให้การปลูกฝิ่นหมดไป ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังทำให้ชุมชนมีโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุขเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของชุมชน การใช้ที่ดินและการเพิ่มประชากรจากการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพก็ส่งผลต่อการขาดแคลนพื้นที่ทำกิน สิทธิถือครองที่ดินและความมั่นคงตามแนวชายแดน ในขณะที่การเปิดเสรีการค้ากับประเทศจีนซึ่งมีผลิตทางการเกษตรใกล้เคียงกันอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกพืชด้วย ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ ควรจัดทำผังการใช้ที่ดินของชุมชนเพื่อควบคุมการขยายพื้นที่ออกไปและการอพยพเข้ามาอาศัยทำกินในพื้นที่ ส่งเสริมการใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกให้เหมาะสมกับแรงงานในครัวเรือน โดยเน้นการเพิ่มคุณภาพของผลผลิตมากกว่าเพาะปลูกเชิงปริมาณด้วยการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นเช่นเดิม นอกจากนี้การใช้ที่ดินควรมีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชตามความต้องการของตลาดโดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ทั้งในด้านการเพาะปลูกและการตลาดยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อเพิ่มศักยภาพและทางเลือกการผลิตให้มากขึ้นควบคู่กับการพัฒนาแรงงานเกษตรให้ทันต่อการแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์