Abstract:
เพลงเชิดนอกเดิมเป็นเพลงสำหรับปี่เป่าประกอบการแสดงชุดจับลิงหัวค่ำ ซึ่งเป็นการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่โดยเฉพาะ ต่อมามีผู้นำเพลงเชิดนอกมาประดิษฐ์เป็นทางเดี่ยวสำหรับเครื่องมืออื่นๆ กันแพร่หลาย ทว่าปี่ก็ยังคงเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงเชิดนอกได้สมบูรณ์ที่สุดทางเดี่ยวปี่ในเชิดนอกของสำนักเสนาะดุริยางค์ถือเป็นทางเดี่ยวทางหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในปัจจุบันครูปี๊บ คงลายทองเป็นผู้สืบทอดทางเดี่ยวดังกล่าวไว้ งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเดี่ยวปี่ในเชิดนอกทางครูปี๊บคงลายทอง วิเคราะห์สังคีตลักษณ์และเอกลักษณ์ของทางเดี่ยวดังกล่าว รวมถึงศึกษากลวิธีการเดี่ยวปี่ในชิดนอกประกอบการแสดงชุดหนุมานจับนางเบญกาย ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์ การวิจัยเอกสาร และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ผลการศึกษาพบว่าเดี่ยวปี่ในเชิดนอกมีได้ 3 โอกาส คือ เดี่ยวประกอบการแสดงหนังใหญ่ เดี่ยวเพื่ออวดฝีมือ และเดี่ยวประกอบการแสดงโขนละคร ในเรื่องสังคีตลักษณ์พบว่าเดี่ยวปี่ในเชิดนอกมีความพิเศษในเรื่องของจังหวะ และมีเอกลักษณ์ในการใช้เม็ดพรายที่แพรวพราว การใช้ท่วงทำนองที่หลายหลาก อีกทั้งมีการใช้สำนวนขึ้นและสำนวนจบที่สมบูรณ์ ในเรื่องกลวิธีการเดี่ยวปี่ในประกอบการแสดงชุดหนุมานจับนางเบญจกายพบว่าการแสดงชุดนี้มีความยืดหยุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ผู้บรรเลงและผู้แสดงจึงต้องเป็นผู้มีความชำนาญและมีไหวพริบปฏิภาณสูง เดี่ยวปี่ในเชิดนอกจึงเป็นผลงานเพลงที่ทรงคุณค่าด้วยความวิจิตรงดงามในเชิงคีตศิลป์จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน