Abstract:
แคปไซชินเป็นสารให้ความเผ็ดที่พบได้ทั่วไปในพืชตระกูลพริก ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารระงับปวดในทางการแพทย์ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อศึกษาผลของแคปไซชินที่ความเข้มข้นต่าง ๆ และระยะเวลาต่าง ๆ กันต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนเซลล์และลักษณะของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่เพาะเลี้ยงจากเหงือกของคน ในการศึกษานี้ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์ร่วมไปกับการทำ MTT assay การใช้กล้องจุลทรรศน์เฟสคอนทราสต์ชนิดหัวกลับ และการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด เป็นวิธีการหลักในการศึกษา โดยความเข้มข้นของแคปไซชินที่ใช้ทดสอบได้แก่ความเข้มข้นร้อยละ 0.002, 0.003, 0.004, 0.006, 0.010, 0.020 และ 0.030 และศึกษาผลของแคปไซชินที่ระยะเวลา 6, 12, 24, 48, 72, 96 และ 120 ชั่วโมง ผลจากการศึกษาโดยใช้ MTT assay พบว่าที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.002 ใน 48 ชั่วโมงแรก จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตเมื่อคิดเป็นร้อยละเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับแคปไซชินไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05 ) แต่ที่ระยะเวลา 48 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง 120 ชั่วโมง พบว่าแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05 ) สำหรับความเข้มข้นอื่นพบว่าจำนวนเซลล์ที่มีชีวิตเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05 ) ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงแรก เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงจำนวนเซลล์ของแต่ละความเข้มข้นโดยเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลา พบว่าแคปไซชินความเข้มข้นร้อยละ 0.002 ใน 48 ชั่วโมงแรก มีอัตราการเพิ่มของเซลล์ใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม แต่ที่ระยะเวลา 48 ชั่วโมง ถึง 120 ชั่วโมง ยังคงมีการเพิ่มจำนวนเซลล์แต่อัตราการเพิ่มน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์เฟสคอนทราสต์ ชนิดหัวกลับ พบว่าความเข้มข้นของแคปไซชินมากขึ้นและระยะเวลาที่เซลล์สัมผัสกับแคปไซชินนานขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในทางเสื่อมลงคือเซลล์มีลักษณะกลม ไม่ยึดเกาะ กับพื้นผิวจานเพาะเลี้ยงเซลล์ จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนฃนิดส่องกราดโดยใช้แคปไซชินความเข้มข้นร้อยละ 0.020 ศึกษาที่ระยะเวลา 2, 3 และ 6 ชั่วโมง พบว่ากลุ่มทีทดสอบด้วยแคปไซชินมีจำนวนเซลล์ที่ยึดเกาะน้อยลงและลักษณะการยึดเกาะไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงของ plasma membrane คือมี blebs ขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีการแตกออกของ blebs บางครั้งพบการลอกของ plasma membrane และการเกิดรูที่ plasma membrane มากมาย ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปนี้รุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แคปไซชินความเข้มข้นร้อยละ 0.002 เป็นความเข้มข้นที่มีพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่เพาะเลี้ยงจากเหงือกของคนน้อยที่สุด สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของแคปไซชินต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์อาจเกิดจากการทำลาย plasma membrane ซึ่งมีผลทำให้เถิดการตายของเซลล์