Abstract:
ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตสุกรแต่กลับพบว่ามีการส่งออกเนื้อสุกรไปยังต่างประเทศในปริมาณที่น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยจึงทำให้ไม่สามารถส่งออกเนื้อสุกรสดไปยังประเทศที่ปลอดโรค สำหรับเนื้อสุกรที่ส่งออกได้นั้นต้องผ่านการปรุงสุกเพื่อทำลายไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย แต่เนื่องจากข้อกำหนดที่เข้มงวดทั้งช่วงอุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้ในการปรุงสุกจึงมีความจำกัดในเชิงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูป การศึกษาครั้งนี้ต้องการทราบถึงช่วงอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำลายไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยสเตรนที่มีการระบาดในประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าถึงข้อจำกัดต่างๆ ต่อไป การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาการทำลายไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยสเตรนที่มีการระบาดในประเทศไทยจำนวน 3 ซีโรไทป์ รวม 6 สเตรน ได้แก่ O/Udornthani/1987, O/Nakhonpathom/1965, A/Saraburi/1987, A/Sakolnakorn/1997, A132/1989 และ Asia-1/Petchaburi/1985 ด้วยความร้อน 6 อุณหภูมิ คือ 50, 60, 70, 80, 90 และ 100 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาต่างๆ กัน 6 ช่วงเวลาในสารละลาย PBS จากนั้นวัดระดับความเข้มข้นของไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยที่เหลืออยู่เพื่อสร้างกราฟแสดงการทำลายไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย และวิเคราะห์ค่าหา D-value ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ใช้ในการลดระดับความเข้มข้นของไวรัสลง 1 Log[subscript 10] หรือร้อยละ 90 ซึ่งจะมีความจำเพาะกับช่วงอุณหภูมิ และสเตรนของไวรัส การทดลองดังกล่าวทำซ้ำ 3 ครั้ง ผลจากการศึกษาพบว่า D-value ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 400 ถึง 2,500 วินาที ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 15 ถึง 23 วินาที ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 7 ถึง 9 วินาที ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 4 ถึง 7 วินาที ที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 2 ถึง 4 วินาที และที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสมีค่าอยู่ระหว่าง 2 ถึง 3 วินาที โดย D-value ที่อุณหภูมิต่างกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ยกเว้นที่อุณหภูมิ 90 และ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเกิดจากระยะเวลาในการทำลายไวรัสที่รวดเร็วมากจนกระทั่งไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างในการทำลายไวรัสได้ ส่วนการเปรียบเทียบกันของ D-value ระหว่างไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยทั้ง 6 สเตรนที่ศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) แสดงถึงความต้านทานความร้อนที่ไม่แตกต่างกันระหว่างไวรัสทั้ง 6 สเตรนที่ศึกษาด้วย