Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพกำไรกับรายงานของผู้สอบบัญชี การศึกษาครั้งนี้คุณภาพกำไรประกอบด้วย (1) รายการคงค้าง (2) ดัชนีเงินสดจากการดำเนินงาน และ (3) ความเพียงพอของเงินสด กลุ่มตัวอย่าง คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2545-2547 ยกเว้นกลุ่มธนาคาร เงินทุนหลักทรัพย์ และธุรกิจประกัน การศึกษาในครั้งนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนา (ความถี่ ร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต) และสถิติเชิงอนุมาน (การวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค) ในการอธิบายผลการวิจัยและการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพกำไรกับรายงานของผู้สอบบัญชี ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% การศึกษาครั้งนี้ พบว่า (1) รายการคงค้างมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป (2) ดัชนีเงินสดจากการดำเนินงานมีความสัมพันธ์เชิงลบกับโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้พยายามที่จะลดความเสี่ยงการละเว้นตัวแปรสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นในแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการเพิ่มตัวแปรควบคุม ผลการทดสอบพบว่า ทิศทางความสัมพันธ์สอดคล้องกับงานวิจัยในอดีต กล่าวคือ โอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างต่ำหาก (1) อัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียนอยู่ในระดับสูง และ (2) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีต่อยอดขายสุทธิอยู่ในระดับสูง ในทางตรงกันข้ามการศึกษาครั้งนี้พบว่าโอกาส (ความน่าจะเป็น) ที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างสูงในกรณีที่งบการเงินถูกตรวจสอบโดยสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่