Abstract:
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการศึกษาวิจัยนี้ คือ เพื่อศึกษาปัญหาโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของฐานภาษี การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน อัตราภาษี และการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งในส่วนของการบริหารการจัดเก็บ และปัจจัยที่มีต่อความสมัครใจในการเสียภาษี เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไข โดยศึกษาจากเอกสาร และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาทดสอบกับความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งได้แก่ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปรียบเทียบความแตกต่างของความเห็นของอาจารย์ทั้ง 2 คณะ โดยได้กำหนดสมมติฐานไว้ 4 ประการ เพื่ออธิบายลักษณะของความเห็นของอาจารย์ทั้ง 2 คณะ ที่มีต่อโครงสร้างภาษี และการบริหารการจัดเก็บเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม โดยส่งไปยังกลุ่มข้อมูลซึ่ง ได้แก่อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 125 คน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 69 คน อาจารย์คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 คนและอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 78 คน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 371 คน โดยได้รับแบบสอบถามกลับคืนจำนวน 74 ชุด คิดเป็นร้อยละ 19.94 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ เกี่ยวกับการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X̄) การหาค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยการทดสอบค่า T สำหรับการทดสอบสมมติฐานได้กำหนดนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความเห็นของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับภาวะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงโดยปัจจัยที่เห็นว่าควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงเป็นอันดับแรกได้แก่ การบริหารการจัดเก็บ อันดับถัดไปได้แก่ การปรับปรุงในส่วนของโครงสร้างภาษี ซึ่งได้แก่ ฐานภาษี อัตราภาษี การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน ตามลำดับ 2. ในส่วนของความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ปฏิเสธสมมติฐานที่ว่า ความเห็นของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีลักษณะเป็นไปในด้านลบ โดยมีความเห็นลักษณะกลาง ๆ คือไม่ชี้ชัดว่ามีความเห็นไปในทางบวกหรือลบ ทั้งนี้ เนื่องจากความแตกต่างกันของระดับความเห็นที่มีต่อองค์ประกอบของโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ 2.1 ฐานภาษี อาจารย์ทั้ง 2 กลุ่ม มีความเห็นสอดคล้องกันโดยเห็นด้วยกับให้มีการยกเว้น มิต้องนำเงินได้จากดอกเบี้ย เงินรางวัล บางประเภทไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีซึ่งเป็นความเห็นในแง่บวกเนื่องจาก ปัจจุบันได้มีการยกเว้นในลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยความเห็นในส่วนนี้มีลักษณะไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แต่มีความเห็นสอดคล้องกันทั้งระหว่างกลุ่ม และกับผลการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่ว่าไม่ควรยกเว้นเงินได้จากโรงเรียนราษฎร์ที่สอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เช่นโรงเรียนสอนตัดผม ตัดเสื้อ ให้มิต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี นั้นคือจะต้องปรับปรุงในส่วนนี้ 2.2 การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาเป็นการไม่ส่งเสริม การทำบันทึกหลักฐานและเป็นมูลเหตุสำคัญ ที่พัฒนาระบบภาษีได้ยากรวมทั้งทำให้จัดเก็บภาษีได้น้อย ซึ่งเป็นลักษณะความเห็นที่สอดคล้องกับการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2.3 การหักค่าลดหย่อน พบว่า มีความสอดคล้องกับการศึกษาจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่ว่า ค่าลดหย่อนในปัจจุบันทำให้ผู้มีรายได้ต่ำบางกลุ่ม ต้องรับภาระภาษีทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสามารถที่จะเสียภาษี และค่าลดหย่อนสำหรับตนเอง คู่สมรสและบุตรน้อยมาก เมื่อเทียบกับสภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน จุดที่ควรให้ความสนใจในการปรับปรุงในส่วนนี้ คือ ควรให้ความสนใจกับสภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันและปัจจัยที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพ เช่น การรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ หรือการสร้างที่อยู่อาศัย 2.4 อัตราภาษี พบว่าอาจารย์ทั้ง 2 กลุ่มมีความเห็นสอดคล้องกัน และสอดคล้องกับการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดย เห็นว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเงินได้สุทธิขั้นต่ำแคบเกินไป 3. จากการเปรียบเทียบความเห็น พบว่ายืนยันสมมติฐานที่ว่าความเห็นของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคลลธรรมดาไม่ แตกต่างกัน เนื่องจากความเห็นในส่วนนี้ของอาจารย์ทั้ง 2 กลุ่ม สอคคล้องกัน 4. ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ยืนยันสมมติฐานที่ว่าความเห็นของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและคณะเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการบริหารการจัด เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีลักษณะเป็นไปในด้านลบโดยมีความเห็นสอดคล้องกับการศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าจุดที่ควรให้ความสนใจในการปรับปรุงแก้ไขได้แก่ 4 .1 การกำหนดตัวผู้เสียภาษี การกำหนดแผนการปฏิบัติชักจูงให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีปฏิบัติตามกฎหมาย 4.2 บทลงโทษทางภาษี 4.3 การให้ความรู้ ความเข้าใจ และ เผยแพร่เรื่องภาษี 5. ความเห็นของอาจารย์ทั้ง 2 กลุ่มในส่วนของการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้มีลักษณะสอดคล้องกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันสมมติฐานที่ว่า ความเห็นของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่แตกต่างกัน 6. ปัญหาในการติดต่อขอเสียภาษีนั้น พบว่าประเด็นที่เป็นปัญหาได้แก่ การติดต่อกับเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรก ลำดับถัดไปได้แก่ การกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษี การคำนวณภาษีช่วงระยะเวลา ที่เปิดให้มีการเสียภาษี ตามลำดับ 7. แนวทางแก้ไขที่ได้จากการวิจัยควรปรับปรุงแก้ไขในส่วนของการบริหารการจัดเก็บ ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมในการเสียภาษี และการปรับปรุงในส่วนของฐานภาษี การหักค่าใจ่าย การหักค่าลดหย่อน และอัตราภาษี ควรคำนึงถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองในขณะนั้น ประกอบด้วย