Abstract:
ลักษณะของผิวรากฟันที่มีความผิดปกติเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีผลต่อการหายของแผลของอวัยวะปริทันต์ การแก้ไขลักษณะผิวรากฟันที่ผิดปกติด้วยวัสดุบูรณะฟันอาจส่งผลดีต่อการหายของแผลของอวัยวะปริทันต์ได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพื้นผิวของวัสดุในกลุ่มคอมโพสิตเรซินชนิดดัดแปลงด้วยสารประกอบของกรดที่ใช้ในการบูรณะผิวรากฟัน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ไดแรกต์เอพีและเยริสโทร์ และเปรียบเทียบผลการยึดเกาะของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่เพาะเลี้ยงจากเหงือกของคนบนพื้นผิววัสดุบูรณะ โดยเปรียบเทียบกับผิวรากฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบที่ผ่านการขูดหินน้ำลาย ในการศึกษานี้ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์ร่วมกับชิ้น รากฟันที่ใด้รับการอุดด้วยวัสดุและชิ้นรากฟันที่เป็นโรค และการวิเคราะห์ทางสถิติของจำนวนเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิววัสดุบูรณะและรากฟัน จากการศึกษาพื้นผิวของวัสดุบูรณะรากฟันและรากฟันด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด พบว่า พื้นผิวไดแรกต์เอพีมีลักษณะค่อนข้างเรียบ พบรูพรุนน้อย ขณะที่พื้นผิวเยริลโทร์มีลักษณะไม่เรียบ พบหลุมขนาดต่าง ๆ มากมาย ส่วนพื้นผิวรากฟันที่เป็นโรคมีลักษณะไม่เรียบ พบรอยแตกทั่วไป และในบางบริเวณสามารถพบจุลชีพได้ จากการศึกษาการยึดเกาะของเซลล์บนพื้นผิววัสดุและผิวรากฟันและวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบแจกแจงทางเดียว พบว่า จำนวนเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่ยึดเกาะดีและที่ยึดเกาะทั้งหมดในกลุ่มที่เป็นพื้นผิววัสดุบูรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พบบนไดแรกต์เอพี มีมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในบางการทดลอง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าไดแรกต์เอพีและเยริสโทร์ที่ใช้ในการอุดแก้ไขความผิดปกติของผิวรากฟันทำให้เกิดการยึดเกาะของเซลล์ไฟโบรลาสต์จากเหงือกของคนได้