Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านของผู้ย้ายถิ่นเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร และศึกษาปัจจัยภูมิหลังทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านของผู้ย้ายถิ่นเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานั้นนำมาจากโครงการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งดำเนินโครงการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษาคือ ผู้ย้ายถิ่นเข้าในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 13 ปี ขึ้นไปและมีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 1,118 ราย ผลการศึกษาการส่งเสริมหรือสิ่งของกลับบ้านของผู้ย้ายถิ่นเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า มีผู้ส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้าน จำนวน 613 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.6 และผู้ไม่มีจำนวน 504 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.4 และเมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภูมิปลังทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่น ๆ กับ การส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้าน ด้วยตารางไขว้ (Cross-tabulation) และทดสอบนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < 0.05 โดยค่าไคสแควร์ (Chi-Square) ผลปรากฏว่า เมื่อวิเคราะห์ในระดับ 2 ตัวแปร พบว่า ผู้ย้ายถิ่นที่ส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านมีเพศหญิงส่งกลับมากกว่าชาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุน้อยและมีสถานภาพโสด มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมักจะประกอบอาชีบริการมากกว่าอาชีพอื่น ๆนอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ย้ายมาจากชนบทโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านมากกว่าภาคอื่น ขณะเดียวกันผู้ที่ย้ายเข้ามาคนเดียวและอาศัยอยู่นาน มักส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านมากกว่ากลุ่มอื่น สำหรับเหตุผลที่ย้ายเข้ามา พบว่า ผู้ที่ย้ายเข้ามาเพื่อหางานทำจะส่งเงินหรือสิ่งของกลับบ้านมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่เมื่อนำตัวแปรอิสระอื่นมาควบคุม พบว่า มีเพียงตัวแปรเขตที่อยู่อาศัยก่อนย้ายเท่านั้น ที่ยังคงมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < 0.05 สำหรับปริมาณเงินที่ส่งกลับบ้าน (เฉลี่ยต่อเดือน) ผลการศึกษาพบว่า มีจำนวนผู้ส่งเงินกลับบ้าน 610 ราย โดยปัจจัยภูมิหลังที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณเงินที่ส่งกลับบ้าน เมื่อนำมาทดสอบด้วยค่าไคสแควร์ (Chi-Square) พบว่า มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ <0.05 ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพปัจจุบัน ระดับการศึกษา และระยะเวลาที่ย้ายมาอยู่ในแหล่งปลายทาง