Abstract:
วิกฤตการณ์พลังงานในปี 2516 และ 2522 มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย หลังจากวิกฤตการณ์พลังงานมีการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ ใช้มาตรการประหยัดพลังงาน ตลอดจนการหาพลังงานอย่างอื่นที่ถูกกว่ามาทดแทนน้ำมัน การวิจัยนี้มุ่งจะศึกษาถึงการวางแผนพลังงานในอดีตจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-5 ซึ่งยังไม่มีแผนพัฒนาพลังงานในระยะนั้น และพิจารณาถึงแผนพัฒนาพลังงานที่เพิ่มเริ่มใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 การขยายตัวของพลังงานสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ประเทศไทยยังผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงยังนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับในอดีตราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ต่างประเทศเข้าสำรวจแหล่งน้ำมันในไทย ในปัจจุบันก็มีบริษัทจากต่างประเทศได้รับสัมปทานในการขุดเจาะหาน้ำมันในประเทศ และรัฐได้รับค่าภาคหลวงจากบริษัทเหล่านี้ ในปี 2524-2528 รัฐได้รับค่าภาคหลวงจากก๊าซธรรมชาติเหลว/น้ำมันดิบเป็นเงินประมาณ 2,313 ล้านบาท และค่าภาคหลวงจากก๊าซธรรมชาติเป็นเงินประมาณ 2,458 ล้านบาท การศึกษาถึง energy intensity จะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP (Gross Domestic Product) ในการศึกษานี้ได้ใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต โดยเปรียบเทียบในปี 2518 และ 2523 ว่าในแต่ละกิจกรรมจากสาขาเศรษฐกิจ 10 สาขา มีการใช้พลังงานแตกต่างกันอย่างไร ผลของความแตกต่างของ energy intensity ในทั้งสองปีจะแสดงให้เห็นถึงการขยายตัว และการหดตัวของกิจกรรมต่าง ๆสาขาเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานสูงได้แก่ สาขาคมนาคมและการขนส่ง และสาขาอุตสาหกรรม น้ำมันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หมดไปได้ ดังนั้นการใช้จึงควรใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ในปี 2526 แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ได้เป็นผลิตอย่างเป็นทางการ ในการกลั่นน้ำมันจะมีก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ด้วย ดังนั้นจึงเริ่มมีการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ซีเมนต์ และการผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้พลังงานชนิดอื่น เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่ผลิตได้ภายในประเทศ ทั้งยังราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และการส่งก๊าซไปใช้ในโรงงานใช้ระบบท่อ จึงช่วยตัดภาระเรื่องการขนส่งและการเก็บสต๊อค ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ได้สมบูรณ์ที่สุด จึงไม่ทำให้เกิดมลพิษ และเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีกำมะถัน ช่วยเครื่องจักรให้มีอายุการใช้งานได้มากขึ้น ส่วนสาขาคมนาคมและการขนส่ง ก็มีการนำ LPG มาใช้กับรถยนต์ ทำให้ลดมลพิษเนื่องจากไอเสียรถยนต์ลงไปได้มาก ทั้งยังประหยัดมูลค่าเชื้อเพลิงจากการทดแทนน้ำมันด้วย LPG ได้ปีละไม่น้อย