Abstract:
โครงการวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรกต้องการทราบถึงลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างภาษีของไทยในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2504-2522) และต้องการทราบว่าโครงสร้างภาษีที่เป็นอยู่นั้นมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ โดยการพิจารณาบทบาทของภาษีที่มีต่อความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และที่มีต่อการกระจายรายได้ ประการที่สอง ต้องการทราบว่า ประเทศไทยได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการระดมทรัพยากรภายใน เพื่อมาใช้จ่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเต็มความสามารถในการเสียภาษีที่มีอยู่แล้วหรือไม่โดยการพิจารณาจากความพยายามทางด้านภาษี และประการที่สาม ต้องการทราบความสามารถของระบบภาษีในด้านการทำรายรับให้แก่รัฐบาล และในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยการพิจารณาความยืดหยุ่นของภาษีที่ไม่มีการปรับปรุงต่อรายได้ และความยืดหยุ่นของภาษีที่มีการปรับปรุงต่อรายได้ ผลการวิจัยชี้ออกมาว่า การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างภาษีของประเทศไทย ในช่วงของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ ฉบับต่าง ๆ นั้น เป็นไปในลักษณะที่สัดส่วนของภาษีเงินได้เพิ่มสูงขึ้น ชดเชยด้วยการลดลงในภาษีอื่น ๆ สัดส่วนของภาษีทางอ้อมค่อนข้างคงที่ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างภาษีทางอ้อมจากภาษีที่จัดเก็บจากภาคการค้าต่างประเทศไปยังภาษีที่จัดเก็บจากภาคการค้าภายในประเทศมากขึ้น โครงสร้างภาษีของประเทศไทยมีส่วนช่วยสนับสนุนความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลทำให้การกระจายรายได้ไม่เสมอภาคยิ่งขึ้น และภาษีสำคัญที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าวก็คือภาษีการค้าและภาษีสินค้าเข้า ความพยายามทางด้านภาษี ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนระหว่างรายรับจากภาษีและผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น หรืออัตราส่วนภาษีที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับร้อยละ 13 ซึ่งยังคงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราส่วนภาษีในประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่ว ๆ ไป และเมื่อพิจารณาความพยายามทางด้านภาษี โดยได้มีการคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถในการเสียภาษี เช่น รายได้ต่อหัวของประชากร อัตราส่วนของการค้าระหว่างประเทศ และสัดส่วนของภาคเกษตรกรรมในผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นแล้ พบว่า เฉพาะสัดส่วนของภาคเกษตรกรรมเท่านั้น ที่เป็นตัวกำหนดอัตราส่วนภาษีโดยมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ถ้าสัดส่วนของภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1 จะมีผลทำให้อัตราส่วนภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 ในด้านความสามารถของระบบภาษีในการทำรายรับให้แก่รัฐบาลและในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ผลการวิจัยที่ได้แสดงว่า ระบบภาษีของไทยมีความสามารถยังไม่ดีเท่าใดนัก เพราะค่าความยื้ดหยุ่นของภาษี ทั้งที่ไม่มีการปรับปรุงและที่มีการปรับปรุงต่อรายได้สูงกว่า 1 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และแม้ว่าภาษีทางตรงจะมีค่าความยืดหยุ่นทั้งสองชนิดสูงกว่า 1 มากพอสมควร แต่เนื่องจากภาษีทางตรงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยในรายรับภาษีทั้งหมด บทบาทของภาษีทางตรงในด้านการทำรายรับและในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงอยู่ในขอบเขตจำกัด