Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการแปรของวรรณยุกต์ใน ภาษาไทยถิ่นกลางที่พูดในระดับตำบล เพื่อหาคำตอบว่า การวิเคราะห์วรรณยุกต์ในคำพูดต่อเนื่องสามารถแสดงความแตกต่างของภาษาถิ่นในระดับนี้ได้เพียงใด ผู้วิจัยอัดเสียงภาษาบ้านลาดที่พูดในตำบลต่างๆ แล้วเปิดไห้ชาวบ้านลาดจากต่างตำบลฟัง เพื่อหาตำบลที่ใช้สำเนียงแตกต่างกัน พบว่าชาวบ้านลาดจำแนกสำเนียงที่พูดที่ตำบลไร่สะท้อนและตำบลบ้านทานได้มากที่สุด ผู้วิจัยจึงเลือก 2 ตำบลนี้เป็นจุดเก็บข้อมูล ผู้วิจัยคัดเลือกผู้บอกภาษา 3 คน จากแต่ละตำบล เป็นเพศชาย อายุ 40-70 ปี แล้วสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาแต่ละคนเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป เป็นเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง ผู้วิจัยสัมภาษณ์ด้วยตนเองเพราะผู้วิจัยเป็นชาวไรสะท้อนแต่กำเนิด หลังจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลคำชุดเทียบเสียง ซึ่งประกอบด้วยคำ 10 คำ ได้แก่ กา คา ข่า ข้า ค้า ขา ขัด คัด ขาด คาด ด้วยวิธีการให้สัญญาณประจำคำ ผู้บอกภาษาออกเสียงคำชุดเทียบเสียงทั้งหมด 8 รอบ ผู้วิจัยคัดเลือกพยางค์ประเภทต่างๆ จากคำพูดต่อเนื่อง ได้แก่ พยางค์ที่ลงเสียงหนักพิเศษ พยางค์ที่ลงเสียงหนัก และพยางค์ที่ไม่ลงเสียงหนัก ที่ปรากฏในคำ 1 พยางค์ และคำ 2 พยางค์ โดยคัดเลือกพยางค์มาบริบท 5 พยางค์ ผู้วิจัยวิเคราะห์พยางค์เหล่านี้พรอมทั้งคำชุดเทียบเสียง คำละ 5 ครั้ง โดยใช้โปรแกรม WinCECIL จากนั้น จึงแสดงผลและประมวลผลให้เป็นกราฟด้วย Microsoft Excel Version 1997 ในงานวิจัยนี้มีวิธีการนำเสนอกราฟแสดงวรรณยุกต์แบบใหม่ด้วย ภาษาถิ่นย่อยทั้ง 2 สำเนียงที่ศึกษา มี 6 หน่วยเสียงวรรณยุกต์ ผลการวิเคราะห์เชิงกลสัทศาสตร์แสดงว่า ว. 5 จำแนกสำเนียงทั้งสองในทุกบริบท ว. 6 ว.4 และ ว. 3 จำแนก 2 สำเนียง ในบริบทส่วนใหญ่ส่วน ว. 2 และ ว.1 จำแนก 2 สำเนียงเฉพาะในบางบริบทเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า ตำแหน่งของกราฟเส้น ของแต่ละหน่วยเสียงวรรณยุกต์เมื่อเปรียบเทียบกับของหน่วยเสียงวรรณยุกต์อื่นๆ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำแนกสำเนียง 2 สำเนียงนี้ออกจากกันด้วย