Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีเป้าประสงค์ในการศึกษา 3 ประการด้วยกันคือ ประการแรกเพื่อศึกษาลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของชาวจีนในประเทศไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเงินกลับประเทศด้วยวิธีโพยก๊วน ประการที่สองเพื่อศึกษาถึงรูปแบบและวิวัฒนาการของการส่งเงินกลับประเทศด้วยวิธีโพยก๊วนในหมู่ชาวจีนในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และประการสุดท้ายเพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเงินกลับประเทศ ในรูปแบบโพยก๊วนและแนวโน้มของโพยก๊วน โดยตั้งสมมติฐานการส่งเงินกลับประเทศโดย ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเป็นผลจากความผูกพันทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดระเบียบสังคมชองชาวจีน รูปแบบและวิวัฒนาการของการส่งเงินกลับประเทศด้วยวิธีโพยก๊วนเป็นผลจากความผูกพันทางวัฒนธรรมดังกล่าว และขึ้นอยู่กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของทั้งสองประเทศ สำหรับวิธีดำเนินการค้นคว้านั้น ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยจงใจที่จะเชื่อมโยงศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน และใช้แหล่งข้อมูลที่สำคัญ คือ ข้อมูลจากเอกสารทั้งเอกสารชั้นต้นและชั้นรองประกอบกับข้อมูลจากงานสนาม โดยเน้นศึกษาเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋วในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๒๐ ตัวอย่าง และอาศัยเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากและมีคุณค่าแก่การวิจัย จากการศึกษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม ของชุมชนชาวจีนในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศจีน และลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนในไทย ทำให้พบว่าชาวจีนมีค่านิยมที่เป็นแบบอย่างเฉพาะตัว และได้นำติดตัวเข้ามาเมื่ออพยพเข้ามาในสังคมไทย ค่านิยมที่ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นมูลเหตุสำคัญของการส่งเงินกลับประเทศทางโพยก๊วน ๓ ประการคือ ความกตัญญูกตเวที แบบแผนทางเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันเองเหนือระดับครอบครัว จากการศึกษาถึงรูปแบบและวิวัฒนาการของโพยก๊วน วิวัฒนาการของการโพยก๊วน อาจแบ่งได้เป็น ๓ ระยะสำคัญตามตัวกำหนดอันส่งผลกระทบต่อกิจการ และรูปแบบของโพยก๊วนโดยตรง ได้แก่ ระยะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่เติบโต ระยะการควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และระยะหลังจากที่ประเทศไทย เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โพยก๊วนเป็นความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจที่ชาวจีนในประเทศไทยมีต่อถิ่นกำเนิด ในรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบและสะท้อนให้เห็นถึงภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของทั้งสองประเทศไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม จากการศึกษาถึงกิจการโพยก๊วนในปัจจุบัน อันเป็นงานวิจัยภาคสนามซึ่งผู้วิจัยศึกษาจากชาวจีนแต้จิ๋วในกรุงเทพ โดยมุ่งศึกษาถึงรูปแบบที่เปลี่ยนไปของการโพยก๊วนภายหลังจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลวิธีในการดำเนินกิจการโพยก๊วนในปัจจุบัน ตลอดจนพฤติกรรมการส่งเงินกลับประเทศทางโพยก๊วนได้พบว่า บทบาทของโพยก๊วนยังคงมีอยู่โดยอาศัยการดัดแปลงรูปแบบ กลวิธีในการดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและความเจริญของเทคโนโลยีทางการสื่อสารคมนาคมสมัยใหม่ ส่วนในแง่ของเป้าประสงค์ในการส่งเงินของผู้ที่ยังคงมีพฤติกรรมการส่งเงินอยู่เป็นไปในสองประการ ประการแรกเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีและความเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ประการที่สอง เพื่อเกื้อหนุนเครือญาติและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นดั้งเดิมของตน ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งเงินกลับประเทศของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย คือ ปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคมและการเมือง เศรษฐกิจ และเมื่อนำปรากฎการณ์การส่งเงินกลับประเทศจำลองเข้ากับทฤษฎีค่านิยมของ Parsons ได้พบว่าพฤติกรรมการส่งเงินกลับประเทศ เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากค่าค่านิยมในสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิม อาศัยบูรณาการในระบบสังคมไทยที่สร้างสมและหล่อหลอมชาวจีนให้มีบุคลิกลักษณะเฉพาะของชาวจีนในประเทศไทย ชาวจีนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในค่านิยมดั้งเดิมทางด้านความกตัญญู ความรับผิดชอบต่อครอบครัว การเกื้อหนูนเครือญาติและการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในท้องถิ่นดั้งเดิม โดยมีข้อจำกัดของเงื่อนไขต่าง ๆ ทางสังคมเศรษฐกิจ การเมืองที่เแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวหรือดัดแปลงวิธีการต่าง ๆ ในการส่งเงินกลับประเทศทางโพยก๊วนให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าการส่งเงินกลับประเทศด้วยเป้าประสงค์ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที โดยการส่งเงินไปให้ญาติทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทนตนในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ คงจะค่อย ๆ ลดลง หรืออาจจำกัดอยู่เพียงชาวจีนรุ่นอพยพ ส่วนการส่งเงินกลับประเทศเพื่อแสดงถึงความเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว การเกื้อหนุนเครือญาติ และการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในท้องถิ่นดั้งเดิม ยังไม่ปรากฏแนวโน้มที่ชัดเจนในการวิจัยนี้