Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ และด้านมุ่งงานของผู้บริหารห้องสมุด ตามความคิดเห็นของผู้บริหารห้องสมุด และบรรณารักษ์ เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ เปรียบเทียบความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ กับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งงาน และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ และด้านมุ่งงานของผู้บริหารห้องสมุด กับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ สมมุติฐานของการวิจัย มีดังนี้คือ 1. พฤติกรรมทางการบริหารของผู้บริหารห้องสมุด ตามความคิดเห็นของผู้บริหารห้องสมุดและบรรณารักษ์ ไม่แตกต่างกัน 2. ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ที่มีต่อผู้บริหารห้องสมุดที่มีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์และด้านมุ่งงาน ไม่แตกต่างกัน 3. พฤติกรรมของผู้บริหารห้องสมุดมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ เมื่อควบคุมผลของตัวแปรต่อไปนี้คือ อายุ การศึกษา และประสบการณ์ของบรรณารักษ์ ตลอดจนเพศ อายุ ตำแหน่ง การศึกษา ประสบการณ์ และสถานภาพของผู้บริหาร สถานภาพห้องสมุด ระบบการบริหารห้องสมุด ระดับการศึกษาที่เปิดสอนในสถาบัน และลักษณะการเรียนการสอนของสถาบัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามสำหรับผู้บริหารห้องสมุด มี 2 ตอน ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริหารห้องสมุด และตอนที่ 2 แบบสอบถามวัดพฤติกรรมผู้นำของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ชื่อว่า Leader Behavior Description Questionnaire (LBDQ) ชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามสำหรับบรรณารักษ์ มี 3 ตอน ตอนที่ 1 ข้อมูลส่วนตัวของบรรณารักษ์ ตอนที่ 2 แบบสอบถามวัดพฤติกรรมผู้นำของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ชื่อว่า Leader Behavior Description Questionnaire (LBDQ) และตอนที่ 3 แบบสอบถามวัดความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ที่สร้างขึ้นจากทฤษฎีแรงจูงใจของ Herzberg ได้ส่งแบบสอบถามดังกล่าวไปให้ผู้บริหารห้องสมุด จำนวน 29 ชุด ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาและนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้รวม 23 ชุด คิดเป็นร้อยละ 79.31 และให้บรรณารักษ์ 300 ชุด ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาและนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้รวม 237 ชุด คิดเป็นร้อยละ 79.00 การวิเคราะห์ข้อมูลได้วิเคราะห์ตามสมมุติฐาน 3 ข้อที่ได้ตั้งไว้ โดยการใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหลัมพันธ์ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพาร์เทียล และ อัตราส่วนวิกฤต t (t - test) ผลการทดสอบสมมุติฐานพบว่าสมมุติฐานที่ 1 และ 2 ปฏิเสธสมมุติฐาน และสมมุติฐานที่ 3 ยอมรับสมมุติฐาน ผลของการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ทั้งผู้บริหารห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า ผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์สูงกว่าพฤติกรรมด้านมุ่งงาน 2. ผู้บริหารห้องสมุดมีความคิดเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ และด้านมุ่งงานสูงกว่าความคิดเห็นของบรรณารักษ์ 3. ผู้บริหารห้องสมุดและบรรณารักษ์ มีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์และด้านมุ่งงานของผู้บริหารห้องสมุด 4. บรรณารักษ์ส่วนมากมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับต่ำ 5. บรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ และบรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งงาน มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน คือบรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานสูงกว่าบรรณารักษ์ที่มีผู้บริหารห้องสมุดมีพฤติกรรมด้านมุ่งงาน 6. พฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์และด้านมุ่งงานของผู้บริหารห้องสมุดมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ 7. เมื่อควบคุมผลของตัวแปรต่อไปนี้ได้แก่ อายุ การศึกษา และประสบการณ์ของบรรณารักษ์ ตลอดจนเพศ อายุ ตำแหน่ง การศึกษา ประสบการณ์ และสถานภาพของผู้บริหาร สถานภาพห้องสมุด ระบบการบริหารห้องสมุด ระดับการศึกษาที่เปิดสอนในสถาบัน และลักษณะการเรียนการสอนแล้ว พฤติกรรมด้านมุ่งกิจสัมพันธ์และด้านมุ่งงานของผู้บริหารห้องสมุด มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์