Abstract:
หลักการใช้สิทธิเกินส่วนนี้เป็นแนวความคิดทางสังคม คือโน้มเอียงที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพให้อยู่ภายในขอบเขตที่ชอบด้วยเหตุผลและศีลธรรม การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่าการยอมให้มีการใช้สิทธิของตนอย่างเห็นแก่ตัว โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเป็นอันมาก แนวความคิดที่จะจำกัดสิทธินี้มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยร่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส แต่เพิ่งจะมีการถกเถียงกัน มากเกี่ยวกับทฤษฎีนี้เมื่อราวต้นศตวรรษที่ ๒๐ นี้ โดย โจเซอรองค์ (Josserand) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีการใช้สิทธิเกินส่วนขึ้น แม้จะมีผู้ที่นิยมแนวความคิดทางด้านเสรีนิยมคัดค้านอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็มีหลายประเทศได้ยอมรับทฤษฎีการใช้สิทธิเกินส่วนและนำไปบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรลงในกฎหมายของประเทศตนด้วยรวมทั้งประเทศไทย (ประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๑) ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมุ่งที่จะศึกษา ถึงหลักกฎหมายของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดแห่งทฤษฎีการใช้สิทธิเกินส่วน อันได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส และหลักกฎหมายอันเป็นที่มาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย มาตรา ๔๒๑ ซึ่งได้แก่ กฎหมายของประเทศเยอรมัน พร้อมกันนี้ก็ได้ศึกษาถึงหลักกฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) อันได้แก่ อังกฤษ และอเมริกา ด้วยว่า มีหลักกฎหมายในเรื่องการใช้สิทธิเกินส่วนนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาหลักเกณฑ์ของกฎหมายประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้ รวมทั้งศึกษาหลักกฎหมายไทย ตลอดจนคำพิพากษาของศาล และความเห็นของนักนิติศาสตร์ในเรื่องนี้ เพื่อที่จะค้นหาว่า หลักเรื่องการใช้สิทธิเกินส่วนที่ใช้กันในต่างประเทศนั้นเป็นอย่างไร ที่ใช้กันในประเทศไทยเป็นอย่างไร ควรมีบทบัญญัติมาตรา ๔๒๑ นี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยหรือไม่ และมาตรานี้ควรตีความกว้างเพียงใด เมื่อศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กรณีใดบ้างที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ศาลมักจะนำหลักสุจริต ตามมาตรา ๕ เข้ามาช่วยในการตัดสิน ซึ่งหลักสุจริตนี้เป็นหลักที่กว้างมาก น่าจะหาหลักเกณฑ์ที่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่ากรณีใดเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นหลักเกณฑ์ที่กว้างพอที่ศาลจะนำมาเป็นแนวทางในการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลเป็นไปในแนวเดียวกัน และเป็นการวางหลัก เกณฑ์ที่แน่นอนในการใช้สิทธิตามมาตรา ๔๒๑ หลักเกณฑ์ที่เสนอแนะไว้ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ เป็นหลักเกณฑ์ ที่ไม่เคร่งครัดจนเกินไป และในขณะเดียวกันก็ไม่ให้อิสระแก่ผู้ใช้สิทธิมากจนเกินไป