Abstract:
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์นี้ คือ ศึกษาเปรียบเทียบระบบเสียงของภาษาไท 6 ภาษา คือ ภาษาลาวใต้ ลาวเวียง ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวพวน และลาวโซ่ง ในอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โดยศึกษาเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและต่างของเสียงในภาษาไททั้ง 6 ดังกล่าว สำหรับข้อมูล 1,892 คำ ที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์นี้ ได้จากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษา 6 คน ภาษาละ 1 คน ผลของการวิจัยแสดงว่า ระบบเสียงของภาษาไท 6 ภาษา ส่วนใหญ่จะเหมือนกันที่แตกต่างมีเล็กน้อย และความแตกต่างที่สำคัญคือระบบวรรณยุกต์ ภาษาโซ่งเป็นภาษาที่แตกต่างจากภาษาอื่น ๆ มากที่สุด ภาษาไททั้ง 6 ภาษามีจำนวนพยัญชนะ 20 หน่วยเสียง ซึ่งสามารถปรากฏเป็นพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด แต่มี 9 หน่วยเสียงเท่านั้นที่ปรากฎเป็นพยัญชนะท้าย การที่หน่วยเสียง /d/ ในภาษาโซ่งมี 2 เสียงย่อยคือ [d] กับ [l] ทำให้ภาษาโซ่งแตกต่างจากภาษาอื่น ๆ และสำหรับเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาโซ่ง พวน และลาวเวียงมี 2 เสียง แต่ภาษาลาวใต้ ลาวครั่ง และลาวแง้วไม่มี ระบบสระของทุกภาษาประกอบด้วยสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง ส่วนสระประสม มีจำนวนไม่เท่ากัน ภาษาลาวใต้ ลาวครั่ง และลาวแง้วมี 2 หน่วยเสียง ภาษาลาวเวียงและพวนมี 3 หน่วยเสียง ภาษาโซ่งมี 4 หน่วยเสียง ส่วนระบบวรรณยุกต์ภาษาโซ่งมี 6 หน่วยเสียง และภาษาอื่น ๆ มี 5 หน่วยเสียง เมื่อศึกษาการปฏิภาคกันของเสียงในคำศัพท์ของภาษาไท 6 ภาษานี้แล้วปรากฎว่าส่วนใหญ่จะเป็นเสียงปฏิภาคที่เหมือนกัน ที่แตกต่างมีเพียงเล็กน้อย ภาษาโซ่งเป็นภาษาที่มีเสียงในคำศัพท์แตกต่างไปจากภาษาอื่น ๆ มากที่สุด ความแตกต่างดังกล่าว เช่น ขณะที่ภาษาอื่น ๆ มีเสียงพยัญชนะต้น เป็น เสียงกัก-มีลม แต่ภาษาโซ่งจะ เป็นเสียงกัก-ไม่มีลม ภาษาโซ่งมีสระประสม /ǝ± / ขณะที่ภาษาอื่น ๆ ไม่มี และภาษาโซ่งมีการวิวัฒนาการของเสียงวรรณยุกต์จากภาษาไทดั้งเดิมเป็นแบบ ABCD 123-4 ขณะที่กลุ่มภาษาลาว (ซึ่งประกอบด้วย ลาวใต้ ลาวเวียง ลาวครั่ง และลาวแง้ว) เป็นแบบ AC1-234 ,B≠DL และภาษาพวน เป็นแบบ A 1-234 , B =DL และวรรณยุกต์แถว C ไม่มีการแยกเสียง