Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาและวิจัยครั้งนี้คือต้องการศึกษาถึงปัจจัยอันเป็นมูลเหตุของการย้ายถิ่นของประชากรในชนบทของประเทศไทยอาศัยข้อมูลแบบปฐมภูมิจากโครงการวิจัยต่อเนื่องระยะยาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและประชากรของประเทศไทยในส่วนที่เป็นการวิจัยในเขตชนบทรอบแรกดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางประชากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศได้ขนาดตัวอย่างประมาณ ๑ ต่อ ๒,๐๐๐ ครัวเรือนในเขตชนบทได้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามทำการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่างเกี่ยวลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจและประชากรของหัวหน้าครัวเรือนและสมาชิกในครัวเรือน วิทยานิพนธ์นี้มิได้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาเพื่อพิสูจน์สมมติฐานใดๆ หากแต่มุ่งที่จะศึกษาเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัจจัยอันอาจยังผลต่อการย้ายถิ่นของประชากรในชนบทของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นสำคัญ จากการศึกษาถึงลักษณะเบื้องต้นของข้อมูลพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของหัวหน้าครัวเรือนชายที่ตกเป็นตัวอย่างมีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปร้อยละ ๙๘ เป็นผู้ที่สมรสแล้วเกือบ ๓ ใน ๔ หรือประมาณร้อยละ ๗๓ มีระดับการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถมปีที่ ๗ ประมาณร้อยละ ๗๔ มีอาชีพเกษตรกรรม หัวหน้าครัวเรือนทั้งหมดมีการติดต่อกับสังคมภายนอกไม่บ่อยนักและเมื่อพิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวโดยทั่วไปแล้ว ปรากฎว่าประมาณครึ่งหนึ่งของหัวหน้าครัวเรือนทั้งหมดมีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง
และประมาณครึ่งหนึ่งที่ให้คำตอบว่ามีความเพียงพอในขนาดที่ดินที่ถือครองเพื่อการเกษตรและมีผลิตผลทางการเกษตรเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านโครงสร้างทางอายุของผู้ไม่เคยย้ายถิ่นและผู้เคยย้ายถิ่นโดยทั่วๆ ไปแล้วปรากฎว่าผู้เคยย้ายถิ่นส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงกว่าผู้ไม่เคยย้ายถิ่นในทำนองเดียวกันผู้เคยย้ายถิ่นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีอัตราส่วนน้อยกว่าผู้ไม่เคยย้ายถิ่นอย่างเห็นได้ชัดนอกจากนี้ผู้เคยย้ายถิ่นยังมีการติดต่อกับสังคมภายนอกมากกว่าผู้ไม่เคยย้ายถิ่นและเมื่อพิจารณาถึงฐานะทางเศรษฐกิจปรากฎว่าผู้เคยย้ายถิ่นมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงกว่าผู้ไม่เคยย้ายถิ่นและประมาณร้อยละ ๘ ของหัวหน้าครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่างมีความต้องการที่จะย้ายถิ่น จากการศึกษาถึงปัจจัยอันอาจยังผลต่อการย้ายถิ่นพบว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอันอาจยังผลต่อความต้องการย้ายถิ่นกล่าวคือประมาณร้อยละ ๗๐ ของผู้ที่ให้คำตอบว่าต้องการย้ายถิ่นให้เหตุผลว่าเนื่องมาจากสาเหตุทางเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ปรากฎว่าเกษตรกรผู้มีผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครัวเรือนและเกษตรกรผู้ต้องเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรมีความต้องการย้ายถิ่นสูง นอกจากนี้ปรากฎว่ากลุ่มหัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุน้อยมิได้มีความต้องการย้ายถิ่นสูงหากแต่หัวหน้าครัวเรือนในกลุ่มอายุ ๓๕ – ๓๙ และ ๔๕ -๔๙ ปีมีความต้องการย้ายถิ่นสูงที่สุด ปัจจัยทางสังคมที่สำคัญคือการศึกษาปรากฎว่ามีผู้ต้องการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้มีระดับการศึกษาสูงรวมทั้งผู้ที่มีการติดต่อกับสังคมภายนอกมากกว่าจะมีความต้องการย้ายถิ่นสูงกว่าด้วย
การศึกษาครั้งนี้นอกจากจะให้ประโยชน์ทางวิชาการโดยเป็นการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการย้ายถิ่นในสาขาวิชาประชากรและเป็นพื้นฐานในการเปรียบเทียบกับการศึกษาและวิจัยที่คล้ายคลึงกันแล้วยังอาจเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย