Abstract:
การผสมข้ามสายพันธุ์ (hybridization) เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันทางวิวัฒนาการที่มีโครงสร้างพันธุกรรมของประชากรหรือสปีชีส์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ลูกผสม (hybrids) ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการถ่ายเทเคลื่อนย้ายของยีน (gene flow) ระหว่างประชากรหรือสปีชีส์ได้หากลูกผสมสามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้ อึ่งน้ำเต้า (Microhyla fissipes) อึ่งข้างดำ (M.heymonsi) และอึ่งลายเลอะ (M.butleri) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อยู่ในสกุลเดียวกัน มีขนาดลำตัวใกล้เคียงกันและมีการกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าอึ่ง 2 หรือ 3 ชนิด มีการใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกัน และที่สำคัญด้วยธรรมชาติของอึ่งที่มีการปฏิสนธิแบบภายนอกร่างกายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมและประเมินความเป็นไปได้ในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างประชากรของอึ่งน้ำเต้า อึ่งข้างดำ และอึ่งลายเลอะในพื้นที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยทำการเก็บตัวอย่างอึ่งทั้งสามชนิดและตรวจสอบการเกิด gene flow โดยเทคนิคทางด้านอณูชีววิทยา ผลการสำรวจและเก็บตัวอย่างพบว่ามีอึ่งน้ำเต้าเพียงสปีชีส์เดียวเท่านั้นที่สามารถเก็บตัวอย่างมาได้ จำนวนทั้งหมด 25 ตัว จากสองพื้นที่ในอำเภอเวียงสา คือ ที่ตำบลไหล่น่าน (n=9) และที่ตำบลส้าน (n=16) ผลการเพิ่มปริมาณยีน COI ในไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอด้วยเทคนิคพีซีอาร์และการทำ DNA sequencing พบว่าอึ่งน้ำเต้าทั้ง 25 ตัวอย่างให้ผลิตภัณฑ์พีซีอาร์และผล sequencing ชัดเจนและน่าเชื่อถือ โดยลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้มีความยาว 678 คู่เบส จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ด้วยโปรแกรม Dnasp พบจำนวน haplotype ที่แตกต่างกันจำนวน 7 haplotype ที่มีความแปรผันทางพันธุกรรมจำนวน 6 (0.88%) ตำแหน่ง และมีค่าความหลากหลายของ haplotype (hd) และค่าความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์ (π) ค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ย hd=0.627 ±0.102 และ π = 0.00111±0.00024 โดยมีระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างประชากร อยู่ระหว่าง 0.000 ถึง 0.003 แสดงว่าประชากรอึ่งน้ำเต้าจากอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีความแตกต่างทางพันธุกรรมของยีน COI ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้จากการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการยังพบว่าอึ่งน้ำเต้ามีความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการเป็นแบบ monophyletic group แต่เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างอึ่งข้างดำและอึ่งลายเลอะจากพื้นที่ในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่านได้เลย ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินความเป็นไปได้ในการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างอึ่งทั้งสามชนิดในพื้นที่ดังกล่าวได้