Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านการปฏิบัติการสอน ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) เปรียบเทียบระดับปัญหาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนิสิต ระหว่างกลุ่มนิสิตวิชาเอกต่างกัน 3) เปรียบเทียบระดับปัญหาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนิสิต ระหว่างกลุ่มที่ปฏิบัติการสอน ครั้งที่ 1 ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับนิสิตกลุ่มที่ปฏิบัติการสอนครั้งที่ 1 ณ สถานศึกษาอื่น และเปรียบเทียบระดับปัญหาระหว่างนิสิตกลุ่มที่กลับมาปฏิบัติการสอน ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งที่ 2 กับนิสิตกลุ่มที่ออกไปปฏิบัติการสอนครั้งที่ 2 ณ สถานศึกษาอื่น 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับผลการเรียนของนิสิตกับระดับปัญหาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2547 (5 ปี) จำนวน 145 คน และอาจารย์นิเทศประจำโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยมที่มีประสบการณ์ในการนิเทศนิสิตตั้งแต่หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2547 จนถึงหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2552 จำนวน 46 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจปัญหาการปฏิบัติการสอนของนิสิตในสถานศึกษา และแบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์อาจารย์นิเทศ ผลการวิจัย พบว่า 1) ปัญหาในการปฏิบัติการสอนครั้งที่ 1 ของนิสิตแต่ละด้านมีภาพรวมอยู่ในระดับน้อย และปานกลางส่วนการปฏิบัติการสอนครั้งที่ 2 นิสิตมีปัญหาในระดับน้อยทุกด้าน และมีการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการปฏิบัติการสอนของนิสิตจากอาจารย์นิเทศก์แต่ละวิชาเอก ทั้งประเด็นที่เหมือน และต่างกัน 2) ระดับปัญหาในการปฏิบัติการสอนครั้งที่ 1 ระหว่างนิสิตวิชาเอกต่างกันตามการจัดกลุ่มเปรียบเทียบ 6 กลุ่ม มีค่าเฉลี่ยที่แตกต่างกันทุกด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนการปฏิบัติการสอนครั้งที่ 2 มีระดับปัญหาแตกต่างกันเพียง 2 ด้าน จาก 11 ด้าน 3) นิสิตกลุ่มที่ปฏิบัติการสอนครั้งที่ 1 ณ สถานศึกษาอื่น มีระดับปัญหาสูงกว่านิสิตกลุ่มที่ปฏิบัติการสอน ครั้งที่ 1 ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 4 ด้าน จาก 11 ด้าน และนิสิตกลุ่มที่กลับมาปฏิบัติการสอน ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งที่ 2 มีระดับปัญหาสูงกว่านิสิตกลุ่มที่ออกไปปฏิบัติการสอนครั้งที่ 2 ณ สถานศึกษาอื่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 4 ด้าน จาก 11 ด้าน 4) ระดับผลการเรียนของนิสิตกับระดับปัญหาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนิสิตมีความสัมพันธ์กันในระดับน้อยที่สุดในทิศตรงกันข้ามอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05