Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมค่าความถี่มูลฐานของเสียงสระอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้น และเสียงพยัญชนะท้ายในภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาละเวือะ ภาษามลายูถิ่นปัตตานี ภาษาเลอูรักลาโว้ย ภาษาชาวเลมอเก็น ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไม่มีลักษณะน้ำเสียง และภาษาขมุ ภาษาโซ่ ภาษาบรุ ภาษามอญ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษามีลักษณะน้ำเสียง โดยวัดค่าความถี่มูลฐานจากคำที่ใช้ในภาษา แต่ละภาษา จำนวนระหว่าง 16-22 คำ และแต่ละภาษาจะใช้ผู้บอกภาษา 5 คน และออกเสียงคำตัวอย่างคำละ 4 ครั้งตามรายการคำศัพท์ที่จัดทำขึ้น ผลการศึกษาพบว่าทั้งในกลุ่มภาษาไม่มีลักษณะน้ำเสียงและกลุ่มภาษามีลักษณะน้ำเสียง ค่าความถี่มูลฐานจากอิทธิพลพยัญชนะต้นชุดเสียงอโฆษะมีค่ามากกว่าความถี่มูลฐานของสระจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นชุดเสียงโฆษะ โดยพบค่าความแตกต่างสูงสุดถึง 62.25 เฮิรตซ์ในภาษาชาวเลมอเก็น แต่ค่าความแตกต่างระหว่างค่าความถี่มูลฐานจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นชุดเสียงอโฆษะกับเสียงโฆษะในกลุ่มภาษามีลักษณะน้ำเสียงจะมีค่าน้อยกว่าค่าดังกล่าวในกลุ่มภาษาไม่มีลักษณะน้ำเสียงกล่าวได้ว่าผลการศึกษาเกี่ยวกับค่าความถี่มูลฐานของสียงสระอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นในงานวิจัยนี้สนับสนุนสาระในทฤษฎีกำเนินวรรณยุกต์ในกรณีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของลักษณะความก้องของเสียงพยัญชนะต้นกับการกำเนินวรรณยุกต์ สำหรับพฤติกรรมค่าความถี่มูลฐานของเสียงสระอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะท้าย พบว่าทั้งในกลุ่มภาษาไม่มีลักษณะน้ำเสียงและกลุ่มภาษามีลักษณะน้ำเสียงพยัญชนะท้ายกักที่เส้นเสียง (-?) ทำให้เส้นแสดงค่าความถี่มูลฐานของสระที่มาข้างหน้ามีรูปลักษณ์เป็นเสียงตกและเสียงขึ้น-ตก ซึ่งเป็นรูปลักษณะที่ตรงกันข้ามกับสาระที่กล่าวไว้ในทฤษฎีกำเนิดวรรณยุกต์ส่วนเสียงพยัญชนะท้ายเสียดแทรกที่เส้นเสียง (-h) ทำให้เส้นแสดงค่าความถี่มูลฐานของสระที่มาข้างหน้ามีรูปลักษณ์เป็นเสียงตกและเสียงขึ้น–ตกซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เสนอไว้ในทฤษฎีกำเนิดวรรณยุกต์ กล่าวได้ว่างานวิจัยนี้สนับสนุนสาระของทฤษฎีกำเนิดวรรณยุกต์ในกรณีที่ว่าด้วยอิทธิพลของเสียงพยัญชนะท้ายเสียดแทรกที่เส้นเสียง แต่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับทฤษฎีกำเนิดวรรณยุกต์ในประเด็นที่ว่าด้วยอิทธิพลของเสียงพยัญชนะท้ายกักที่เส้นเสียง นอกจากนี้ยังพบว่ารูปแบบการทำงานของเส้นเสียงในลักษณะต่างๆ (phonation type) ซึ่งได้แก่ลักษณะพ่นลม (aspiration) และ ลักษณะน้ำเสียง (register) มีนัยสำคัญต่อการกำเนิดวรรณยุกต์อย่างเห็นได้ชัดที่น่าสนใจคือผู้วิจัยพบว่าภาษาขมุถิ่นน่านได้แสดงพฤติกรรมค่าความถี่มูลฐานของเสียงสระอันเนื่องมาจากอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นและเสียงพยัญชนะท้ายอันโดดเด่นจนโน้มน้าวให้เชื่อได้ว่าภาษาขมุถิ่นนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนเป็นภาษามีวรรณยุกต์