Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาถึง การให้ความสำคัญกับระดับชั้นบุคคลในสังคมไทย ที่ปรากฏ ออกมาทางลักษณะชื่อ โดยได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง สาเหตุวิวัฒนาการของชื่อ ซึ่งแพร่หลายในหมู่ บุคคลที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมสูงในปัจจุบัน กับปฏิสัมพันธ์ของการเกิดชนชั้นผู้ดีทางเศรษฐกิจ และ ความพยายามที่จะรักษาเอกลักษณ์ทางชนชั้นของกลุ่มชนชั้นสูงดั้งเดิม ผลการศึกษาได้พบว่า ขณะที่เด็กเชื้อสายชาวจีนหันมาใช้ชื่อไทย นามสกุลไทย มากขึ้นนั้น รูปแบบชื่อของชนชั้นสูงระดับรอง มีวิวัฒนาการแยกออกไปสามลักษณะ กล่าวคือ มีแนวโน้มที่จะใช้ชื่อซึ่งมีสภาพเป็นศัพท์มากขึ้น มีวิธีการประสมคำในชื่อให้แปลกไปจากเดิม และใช้ชื่อที่หรูหราด้วยศัพท์เสียง หรือความยาวของพยางค์ มากกว่าที่เคยพัฒนาการดังกล่าวนี้ เริ่มเด่นชัดมากหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามความแตกต่างระหว่างชื่อของบุคคลสองกลุ่มนี้คงอยู่ไม่นานนัก เมื่อกลุ่มผู้ดีใหม่ได้สมาคมกับชนชั้นสูงโดยชาติตระกูลมากขึ้นในระยะต่อมา ผลของการประสมกลมกลืนระหว่างชื่อชนชั้นสูง ระดับรอง กับชื่อของกลุ่มผู้ดีใหม่นี้ได้ทำให้ชื่อในลักษณะดังกล่าว กลายเป็นแบบชื่อซึ่งจำเป็นสำหรับแสดง ความเป็นคนชั้นสูงในสมาคมชั้นสูงในปัจจุบัน ในส่วนท้ายของการศึกษา ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชื่อบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมต่างกัน โดยใช้ระดับโรงเรียนเป็นตัวแบบ ผลการเปรียบเทียบพบความแตกต่างในเรื่องทั่ว ๆ ไป คือ ความแตกต่างเรื่อง จำนวนพยางค์ ประเภทของภาษาที่ใช้ การสัมผัส และ ความซับซ้อนของคำ อย่างไรก็ตามความแตกต่างดังกล่าวนี้ อิทธิพลของความเป็นเมืองและชนบทได้มีส่วนกำหนดอยู่บ้าง