Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้เป็นผลของความพยายามที่จะค้นหาระบบความคิดทางจริยศาสตร์สังคมในพุทธศาสนาโดยมีสมมติฐานว่าคำสอนต่างๆ ในศาสนาพุทธไม่ว่าจะเป็นคำสอนในระดับโลกียะหรือโลกุตตระก็ตามย่อมสอดคล้องกันและมีจุดหมายเพื่อความหลุดพ้นเหตุที่มีจุดหมายเช่นนี้ก็เพราะถือว่าชีวิตเป็นทุกข์ ความสุขที่แท้ก็คือการพ้นทุกข์ ยิ่งพ้นทุกข์มากเท่าใดก็ยิ่งสุขมากเท่านั้น คำสอนทั้งหมดของพุทธศาสนาจึงได้แก่เรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์ จริยศาสตร์สังคมแม้จะเป็นเรื่องในระดับโลกิยธรรมคือเป็นค่าที่คนในสังคมพึงยึดถือก็ล้วนแต่เป็นแนวทางที่ทำให้ชีวิตมีความทุกข์น้อยลงทั้งสิ้นพุทธศาสนาถือว่าชีวิตเป็นทุกข์เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นในตัวตนของตนความยึดมั่นนี้เป็นเหตุให้ต้องดิ้นรนแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อไม่ได้ก็กระวนกระวาย เมื่อได้มาก็กลัวจะรักษาไว้ไม่ได้เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องเสื่อมสลายไปตามสภาพแวดล้อมและเมื่อเป็นสิ่งที่เสื่อมสลายได้การที่จะให้มีอยู่กับตนตลอดไปก็ต้องแสวงหามาทดแทนสิ่งที่เสียไปแล้วและหามาสำรองไว้สำหรับวันหน้ามนุษย์จึงตกเป็นทาสที่ต้องใช้กำลังกายกำลังความคิดเพื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้อย่างไม่รู้จักจบสิ้นไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองชีวิตที่ดิ้นรนเช่นนี้เป็นความทุกข์ทรรศนะดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในบทที่ 2 เนื่องจากชีวิตเป็นทุกข์และการดำเนินชีวิตที่ดีได้แก่การดำเนินชีวิตเพื่อพ้นทุกข์ดังกล่าว ในบทที่ 3 ได้อธิบายคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีซึ่งพุทธศาสนาถือหลักเว้นชัว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากหลักดังกล่าวจะเห็นว่าพุทธศาสนากำหนดขอบเขตค่าทางจริยะไว้ทั้งทาง กาย วาจา และใจ และได้เน้นการควบคุมจิตใจตนเองเป็นส่วนสำคัญที่สุดเพราะเป้นเหตุของวาจาและการกระทำการดำเนินชีวิตดังที่กล่าวไว้ในบทนี้จะทำให้
คนแต่ละคนเป็นคนดีรู้จักบังคับตัวเองไม่ให้ทำชั่วจนแม้ไม่มีกฎหมายบังคับก็ไม่ทำผิดหากทำผิดไปโดยไม่ตั้งใจก็เต็มใจแก้ไขด้วยตัวเองคำสอนในเรื่องนี้มีความสำคัญที่ทำให้ค่าทางสังคมคือค่าที่คนควรยึดถือเป็นหลักในการอยู่ร่วมกันสามารถปฏิบัติได้ผล การสร้างคนแต่ละคนให้เป็นคนดีเป็นหลักการที่จำเป็นที่จะช่วยให้การใช้จริยศาสตร์ทางสังคมได้ผลเพราะพุทธศาสนาถือว่าถ้าคนแต่ละคนเป็นคนดี สังคมก็จะดี แต่ถ้าคนไม่ดีแม้จะวางระบบบังคับไว้สักเพียงไรคนก็จะหาทางเลี่ยงอยู่ร่ำไปถ้าคนดีแล้วระบบสังคมแม้ไม่รัดกุมมากนักคนเหล่านั้นก็จะไม่เลี่ยงเพราะบังคับตัวเองได้ระบบก็จะเป็นเครื่องช่วยให้สังคมดีขึ้นหลักจริยธรรมทางสังคมซึ่งกล่าวไว้ในบทที่ 4 เป็นหลักที่พุทธศาสนาถือว่าคนที่ดีแล้วเมื่อมาอยู่ร่วมกันในสังคมพึงยึดถือเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างพึงพอใจทุกฝ่ายไม่มีข้อขัดแย้งกันหลักดังกล่าวนี้เป็นการกำหนดธรรมที่คนซึ่งอยู่ร่วมกันควรยึดถือเช่น หริโอตตัปปะ ขันติโสรัจจะ สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 อคติ 4 เป็นต้น กับธรรมซึ่งกำหนดหน้าที่ของคนที่มีฐานะทางสังคมต่างๆ เช่น ธรรมของมิตร ญาติ บิดามารดา ครู-อาจารย์ ผู้ปกครอง บทที่ 5 เป็นการพยายามนำแนวความคิดทางจริยศาสตร์สังคมของพุทธศาสนามาประยุกต์กับสังคมไทย บทนี้แม้จะเป็นการพูดถึงสังคมไทยโดยเฉพาะและไม่ได้อธิบายรายละเอียดแต่ก็ได้นำเอาปัญหาและมโนภาพสำคัญทางสังคมเช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค กฎหมาย ระบบสังตม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา มาพิจารณาตามทรรศนะของพุทธศาสนา เพื่อให้เห็นว่าพุทธศาสนาอธิบายปัญหาเหล่านั้นอย่างไร บทนี้แม้จะไม่เน้นเนื้อหาอย่างบทอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วแต่ก็เป็นความคิดใหม่เช่นกัน 3 บทที่แล้วมาเป็นความคิดใหม่ในแง่การจัดระบบจริยศาสตร์ขึ้นจากหลักธรรมของพุทธศาสนา ส่วนบทนี้ใหม่ในแง่ที่อธิบายมโนภาพซึ่งมิได้พูดไว้โดยตรงในพุทธศาสนาเป็นการมองทรรศนะรวมๆ ของพุทธศาสนาจาก 3 บทก่อนแล้วนำเอาทรรศนะนั้นมาพิจารณาปัญหาสังคมไทยปัจจุบันโดยพยายามพิจารณาเฉพาะมโนภาพสำคัญๆ ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาสังคมในการพิจารณาปัญหาเหล่านี้ได้เสนอทรรศนะไว้กว้างๆ เนื่องจากเป็นการเสนอความคิดใหม่จึงต้องการให้เห็นขอบเขตของปัญหาและความคิดรวมๆ เสียก่อนและได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าถ้าจะศึกษาปัญหาเหล่านี้ในรายละเอียดจะต้องอาศัยความรู้ทางสังคมศาสตร์กับพุทธปรัชญาผสมกันแต่ละปัญหาควรจะศึกษาวิจัยเฉพาะเรื่องลงไปดังนั้นถ้าหากผู้อ่านรู้สึกว่าผู้เขียนตอบปัญหาไว้เฉพาะหลักใหญ่ไม่มีรายละเอียดก็ขอให้ทราบว่าเป็นเพราะผู้เขียนต้องการเสนอทฤษฎีใหม่ไว้เป็นแนวทางสำหรับให้ศึกษาในรายละเอียดกันต่อไปดังจะเห็นได้ว่าผู้เขียนก็ได้เสนอแนะแนวทางศึกษาพุทธปรัชญาต่อไปไว้ในบทที่ 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาพุทธปรัชญานั้นผู้เขียนเชื่อว่าการศึกษาปัญหาจริยศาสตร์ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวมนุษย์จะทำให้ผู้ศึกษาสนใจและเข้าใจพุทธศาสนาได้ดีกว่าการสอนหลักธรรมชั้นสูงก่อนกล่าวคือแทนที่จะเริ่มโดยนำโลกุตตรธรรมมาอธิบายโลกิยธรรม ควรเริ่มด้วยการพูดถึงโลกิยธรรมแล้วชี้ให้เห็นแนวทางว่านำไปสู่โลกุตตรธรรมอย่างไร การศึกษาโดยนัยนี้จึงไม่สูงเกินไปสำหรับคนที่ยังละกิเลสได้น้อยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและน่าจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วยวิทยานิพนธ์นี้เป็นเสมือนผู้นำทางและเป็นตัวอย่างของความพยาบามดังกล่าว