Abstract:
นโยบายการกระจายอำนาจทำให้รัฐบาลจัดตั้งชุมชุนเมืองเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ซึ่งปัจจุบันมี 1129 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เทศบาลเหล่านี้มีความแตกต่างกันในขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และสถานะทางการคลัง ดังนั้นความร่วมมือกันบริหารจัดการระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่จึงมีความจำเป็น การบริหารจัดการขยะเป็นบริการสาธารณะซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรร่วมมือกันดำเนินการ เพราะจะก่องให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การประหยัดต้นทุนและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากมีเขตปกครองต่อเนื่องเป็นพื้นที่เมืองอันเดียวกัน การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาการบริหารจัดการขยะร่วมกันของเทศบาลใน เขตอำเภอเมืองชลบุรีรวม 6 เทศบาล ผลการวิจัยพบว่า การบริหารจัดการขยะร่วมกันที่มีประสิทธิภาพโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทางด้านพื้นที่เป็นการรวมกลุ่มกัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วย ทม.เมืองชลบุรี ทต.ตำบลบ้านสวนและทต.บางทราย กลุ่มที่สอง ทต.แสนสุข ทต.อ่างศิลาและทต.คลองตำหรุ สำหรับวิธีการบริหารจัดการร่วมกันที่เหมาะสมมากที่สุด คือ การร่วมมือกันบริหารจัดการในรูปแบบ สหการ ผลการศึกษาเสนอแนะให้มีการจัดตั้งสหการขึ้น 2 แห่ง เพื่อเป็นองค์กรบริหารจัดการขยะในแต่ละกลุ่มเทศบาลที่ร่วมมือกัน และเสนอแนะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่ออุดหนุนเงินเป็นค่าชดเชยแก่ เทศบาลเมืองชลบุรีและเทศบาลตำบลแสนสุขเพื่อนำสถานทิ้งขยะทั้งสองเทศบาลที่มีอยู่เดิมไปเป็นทรัพย์สินของสหการที่จัดตั้งขึ้นใหม่