Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้มี 2 ประการคือ ประการแรก เพื่อพัฒนาเศรษฐมิติโมเดลเพื่อการวิเคราะห์และพยากรณ์ การผลิตและการใช้ประโยชน์จากถ่านหินภายในประเทศ และประการที่สอง เพื่อเป็นลู่ทางในการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดลสาขาพลังงานของอาเซียน ตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สองในปี 2522 เป็นต้นมาการผลิตและการใช้ประโยชน์จากถ่านหินในประเทศไทย ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของถ่านหินที่ผลิตได้ทั้งหมดในปี 2532 การผลิตถ่านหินในสาขานี้ได้ขึ้นจาก 0.48 ล้านตันในปี 2521 เป็น 6.7 ล้านตันในปี 2532 การใช้ประโยชน์จากถ่านหินเพื่อการอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา สาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมซีเมนต์ ได้พยายามรักษาเสถียรภาพอุปทานในระยะยาวโดยใช้พลังงานจากแหล่งถ่านหินในประเทศ เป็นผลให้การผลิตถ่านหินในสาขานี้เพิ่มจาก 0.16 ล้านตันในปี 2521 เป็น 0.55 ล้านตันในปี 2528 และ 2.2 ล้านตันในปี 2532 จากการศึกษาของธนาคารโลก ช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานของถ่านหินในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยคาดว่าจะมีถึง 0.33 ล้านตันในปี 2543 ในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวทั้งในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจำเป็นจะต้องกระตุ้นให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหินใหม่ๆ ส่วนระยะสั้นจำเป็นที่จะต้องบริหารการใช้ถ่านหินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันปัญหาในการเวนคืนที่ดินและสภาวะแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะกลับไปเป็นปัญหาในการผลิตและการใช้ถ่านหินอีก จากผลของการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน และสภาวะแวดล้อมค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามในระยะสั้น อุปสงค์และอุปทานของถ่านหินนั้นถูกกำหนดโดยราคาถ่านหินในประเทศ และราคาถ่านหินนำเข้า เป็นที่แน่ชัดว่า การสำรวจและพัฒนาถ่านหินในประเทศนั้น เป็นผลมาจากการที่อัตราภาษีนำเข้าถ่านหินอยู่ในระดับสูง จากการประมาณการอุปสงค์ และอุปทานของถ่านหินไปจนถึงปี 2543 แสดงให้เห็นว่าจะมีการขาดแคลนถ่านหินในประเทศไทยในสาขาอุตสาหกรรม ซึ่งผลของการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของธนาคารโลก จากพื้นฐานดังกล่าวนี้ทำให้เป็นไปได้ว่าการนำเข้าถ่านหินจะเพิ่มบทบาทสำคัญในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะกดดันให้รัฐบาลต้องลดภาษีนำเข้าถ่านหินลง