Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในโครงการโรงเรียนต้นแบบไม่ปรับอากาศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันปัญหาเสียงรบกวนส่งผลกระทบต่ออาคารเรียนและการดำเนินกิจกรรมภายในอาคารอย่างมาก แต่การออกแบบอาคารเรียนโดยทั่วไปไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร ดีเท่าที่ควร การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอก และการควบคุมเสียงภายในอาคารเรียน เพื่อนำมาสร้างแบบประเมินค่าเสียงในอาคารเรียนระดับประถมศึกษา กระบวนการศึกษาอาศัยทฤษฎีและข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบอาคารเรียนเพื่อการป้องกันเสียงรบกวน จากสภาพแวดล้อมภายนอกและการควบคุมเสียงภายในอาคาร ตัวแปรหลักที่ใช้ในการประเมินแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกและกลุ่มตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการควบคุมเสียงภายใน อาคาร ขั้นตอนต่อมา เป็นการหาค่านํ้าหนักของกลุ่มตัวแปรต่างๆ เพื่อสร้างดัชนีโดยใช้การวิเคราะห์ความสามารถในการป้องกัน เสียงรบกวนของตัวแปร ตามเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานของการออกแบบเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารจากการวิเคราะห์พบว่า การป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกมีลัดส่วนของกลุ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับระบบเปลือกอาคารในส่วนของผนังร้อยละ 70 กลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับองค์ประกอบบริเวณที่ตั้งอาคารร้อยละ 20 และกลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับการดูดซับเสียงของพื้นผิวภายในอาคารร้อยละ 10 ส่วนการควบคุมเสียงภายในอาคารเรียนใช้การวิเคราะห์ตามสภาวะการณ์ต่างๆ จากความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรห้อง ค่าริเวอเบอเรชั่นไทม์ (Reverberation Time ) และระดับความดันเสียงที่ลดลง จากการวิเคราะห์พบว่า การควบคุมเสียงภายในอาคารมีลัดส่วนของกลุ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับระดับความดันเสียงภายในอาคารร้อยละ 70 และกลุ่มตัวแปรเกี่ยวกับการสะท้อนเสียง (Reverberant Sound ) ภายในห้องร้อยละ 30 จากนั้น จึงหาเกณฑ์ที่ เหมาะสมในการประเมินค่าตัวแปรต่างๆ และสร้างค่าระดับที่ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงศักยภาพในการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวด ล้อมภายนอกและการควบคุมเสียงภายในอาคารเรียนโดยแบ่งเป็น 5 ระดับ โดยระดับ 5 เป็นระดับที่ดีที่สุด
ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า การออกแบบอาคารเรียนควรคำนึงถึงการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอก อาคารที่ประกอบด้วย ระบบเปลือกอาคารในส่วนของผนัง องค์ประกอบบริเวณที่ตั้งอาคารและการดูดซับเสียงของพื้นผิว ภายในอาคาร ส่วนการควบคุมเสียงภายในอาคารเรียนควรคำนึงถึง ระดับความดันเสียงและการสะท้อนเสียงภายในอาคาร เมื่อนำแบบประเมินที่ได้มาใช้ทดสอบประเมินอาคารเรียนระดับประถมศึกษาที่ใช้ระบบก่อสร้างทั่วไปและห้องเรียนรวมกรณีศึกษา ผลที่ได้พบว่า อาคารเรียนระดับประถมศึกษาที่ใช้ระบบก่อสร้างทั่วไปได้คะแนนจากการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร 28.00 คะแนน อยู่ในระดับ 1 (ระดับตํ่าสุด) และได้คะแนนจากการควบคุมเสียงภายในอาคาร 84.80 คะแนน อยู่ในระดับ 4 (ระดับค่อนข้างสูง) ส่วนห้องเรียนรวมกรณีศึกษา ได้คะแนนจากการป้องกันเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร 52.60 คะแนน อยู่ในระดับ 3 (ระดับปานกลาง) และได้คะแนนจากการควบคุมเสียงภายในอาคาร 49.80 คะแนน อยู่ในระดับ 2 (ระดับค่อนข้างตํ่า) การศึกษานี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นในการสร้างดัชนีเพื่อประเมินค่าเสียงในอาคารเรียนระดับประถมศึกษา ดัชนีที่สร้างขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินค่าเสียงในอาคารเรียนระดับอื่น ๆ ได้โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น