Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้, เจตคติและการปฏิบัติของผู้ปกครองเด็กปัญญาอ่อน ก่อนและหลังการได้รับสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ร่วมกับ การได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตราฐาน และศึกษาเปรียบเทียบความรู้, เจตคติ และการปฏิบัติของผู้ปกครองเด็กปัญญาอ่อน ระหว่างการได้รับสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ร่วมกับ การได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐาน กับ การได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองเป็นโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม, แบบทดสอบความรู้, แบบสอบถามเจตคติ และแบบสอบถามการปฏิบัติต่อเด็ก ปัญญาอ่อน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองเด็กปัญญาอ่อน อายุแรกเกิด - 1 ปี 6 เดือน ที่รับบริการส่งเสริมพัฒนาการจากโรงพยาบาลราชานุกูล จำนวน 59 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 29 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ผลการวิจัยพบว่า ก่อนและหลังการได้รับสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ร่วมกับ การได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐาน ผู้ปกครองมีความรู้, เจตคติ และการปฏิบัติ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในขณะที่ผู้ปกครองกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐาน มีเพียงเจตคติเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนความรู้และการปฏิบัติไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแสดงว่าการได้รับสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ร่วมกับ การได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐาน มีประสิทธิผลต่อการเสริมสร้างความรู้, เจตคติ และการปฏิบัติของผู้ปกครอง ดีกว่าการได้รับสุขภาพจิตศึกษาเป็นรายบุคคลตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว