Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนบ้านบางกระตี่ กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อรูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการใช้แบบสอบถาม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเชื่อและการทำกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงและลักษณะทางกายภาพของชุมชนโดยการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่าชุมชนมอญแห่งนี้มีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ 1 ) การวางทิศทางของบ้านเรือน ซึ่งมาจากความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของคนเชื้อชาติมอญ 2) การปลูกเรือนใกล้แหล่งนํ้า 3) การมีวัดเป็นศูนย์กลาง 4) การเกาะกลุ่มกันของบ้านเรือน 5) การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่หัวและท้ายหมู่บ้าน 6) การมีพื้นที่เกษตรอยู่ล้อมรอบชุมชน การวางทิศทางของบ้านเรือนเป็นที่สิ่งที่สะท้อนความเป็นชุมชนมอญได้ชัดเจนที่สุด โดยที่บ้านเรือนในชุมชุนร้อยละ 94 วางหน้าจั่วบ้านไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนี้วิถีชีวิตและกิจกรรมของประชาชนในชุมชนยังมีเอกลักษณ์ ทั้งในส่วนของประเพณีและกิจวัตรประจำวัน บริเวณที่ยังคงเอกลักษณ์ด้านรูปแบบการตั้งถิ่นฐานได้มากที่สุดคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนฝังล่างของคลองบริเวณหมู่ที่ 8 และ หมู่ที่ 9 บริเวณโดยรอบชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา จากพื้นที่เกษตรกรรม เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรร ขณะที่ภายในชุมชนมีการเพิ่มขึ้นของสิ่งปลูกสร้างที่ขัดแย้งกับสภาพบ้านเรือนในชุมชน ทำให้เอกลักษณ์ของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานถูกทำลาย ดังนั้นจึงเสนอแนะให้กรุงเทพมหานครคงเอกลักษณ์ของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบางกระตี่ไว้โดย 1) การควบคุมความสูงและรูปแบบอาคาร 2) การเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน 3) การอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรม 4) การจัดระเบียบพื้นทีเพื่อการพาณิชยกรรม 5 ) การอนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม 6) การปรับปรุงภูมิทัศน์แลสภาพแวดล้อม 7) การพัฒนาโครงข่ายทางสัญจร ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะสำเร็จได้ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน