Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการขอโทษของผู้พูดที่มีสถานภาพต่างกันในภาษาไทย และความสัมพันธ์ระหว่างการขอโทษของผู้ที่มีสถานภาพต่างกัน กับนํ้าหนักความผิด ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากการตอบแบบสอบถาม ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้ที่มีสถานภาพสูงกว่าได้แก่ ครู หัวหน้า และ พระภิกษุ จำนวน 100 คนและผู้ที่มีสถานภาพตํ่ากว่า ได้แก่ นักเรียน ลูกน้อง และฆราวาส จำนวน 100 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้กลวิธีการขอโทษทั้งสิ้น 5 กลวิธี ได้แก่ การกล่าวคำแสดงเจตนาในการขอโทษ การยอมรับผิด การกล่าวแก้ตัว การเสนอชดใช้ และ การแสดงความใส่ใจผู้ฟัง และพบว่าสถานภาพเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการขอโทษ พบว่าผู้ที่มีสถานภาพต่างกันมีโอกาสที่จะกล่าวขอโทษไม่เท่ากัน กล่าวคือผู้มี สถานภาพสูงกว่ากล่าวขอโทษน้อยกว่าผู้มีสถานภาพตํ่ากว่า นอกจากนี้พบว่าผู้พูดที่มีสถานภาพต่างกันนิยมใช้กลวิธีการขอโทษที่ต่างกัน ผู้มีสถานภาพสูงกว่านิยมใช้กลวิธีการกล่าวแก้ตัว มากกว่า การยอมรับผิด ในขณะที่ผู้มีสถานภาพตํ่ากว่านิยมใช้กลวิธี การยอมรับผิดมากกว่าการกล่าวแก้ตัว นอกจากนี้ยังพบว่า นํ้าหนักความผิดมีความสัมพันธ์กับโอกาสที่ผู้ที่มีสถานภาพต่างกันจะกล่าวขอโทษหรือไม่ขอโทษ กล่าวคือ เมื่อกระทำความผิดที่มีนํ้าหนักความผิดมาก ผู้ที่มีสถานภาพตํ่ากว่าจะยิ่งกล่าวขอโทษมากขึ้น ในขณะที่ผู้มีสถานภาพสูงกว่ากลับกล่าวขอโทษน้อยลง นอกจากนี้พบว่า นํ้าหนักความผิดมีความสัมพันธ์กับร้อยละการปรากฏของกลวิธีการขอโทษของผู้พูดที่มีสถานภาพต่างกัน กล่าวคือเมื่อกระทำความผิดที่มีน้ำหนักความผิดมาก ทั้งสองกลุ่ม จะใช้กลวิธีการกล่าวคำแสดงเจตนาในการขอโทษ และ การเสนอชดใช้น้อย ลง แต่จะใช้กลวิธีการยอมรับผิด และการแสดงความใส่ใจผู้ฟัง มากขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าแม้จะเป็นความผิดที่มีน้ำหนักความผิดมาก ผู้มีสถานภาพสูงกว่ากิคำนึงถึงหน้าของตนมากกว่าผู้มีสถานภาพตํ่ากว่า เห็นได้จากผู้มีสถานภาพสูงกว่าจะใช้กลวิธีการกล่าวแก้ตัวมากขึ้นในขณะที่ผู้มีสถานภาพตํ่ากว่าใช้น้อยลง