Abstract:
แนวคิดสมมติฐานตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพกล่าวว่าราคาหลักทรัพย์จะสะท้อนอย่างถูกต้องและทันทีทันใดถึงสารสนเทศทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งมีนัยว่าราคาหลักทรัพย์จะมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วและถูกต้องต่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ และจะไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่ใช่สารสนเทศ แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ความผันผวนของตลาดหุ้นนิวยอร์คและมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 ที่รู้จักกันดีในชื่อของ "Black Monday" ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ได้สะท้อนถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากสารสนเทศเกี่ยวกับมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้น งานศึกษานี้ไม่ได้มุ่งที่จะทดสอบความมีประสิทธิภาพของตลาดทุนซึ่งเป็นงานที่มีการศึกษากันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่งานศึกษานี้มุ่งที่จะทดสอบถึงการมีอยู่หรือไม่ของนักลงทุนที่ไม่ใช้ข้อมูลสารสนเทศในการตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเรียกนักลงทุนดังกล่าวนี้ว่า "นักลงทุนแมลงเม่า" นอกจากนี้แล้วงานศึกษานี้ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบของนักลงทุนแมลงเม่าที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย เมื่อนิยาม "นักลงทุนแมลงเม่า” ว่าเป็นนักลงทุนที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สารสนเทศ นักลงทุนแมลงเม่าจึงหมายความรวมถึงนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยทางเทคนิคในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ เนื่องจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสารสนเทศที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท การพิสูจน์ว่าจะมีนักลงทุนแมลงเม่าเกิดขึ้นหรือไม่ในตลาดหลักทรัพย์ตามนิยามดังกล่าวข้างต้น จึงทำได้ด้วยการตรวจสอบการวิเคราะห์ทางเทคนิคในลักษณะรูปแบบของราคา โดยที่การศึกษานี้ได้พิจารณาการวิเคราะห์ทางเทคนิครูปแบบหัวและไหล่ รูปแบบสองยอด/ฐาน รูปแบบสามยอด/ฐาน และรูปแบบสามเหลี่ยม จากนั้นพิจารณาถึงปริมาณการซื้อขาย ณ วันที่เกิดสัญญาณทางเทคนิค จากผลการศึกษาพบว่าปริมาณการซื้อขาย ณ วันที่เกิดสัญญาณทางเทคนิคนั้นสูงผิดปกติ ซึ่งมีนัยว่ามีนักลงทุนที่ได้ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกล่าวได้ว่ามีนักลงทุนแมลงเม่าเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นเอง นอกจากนี้แล้วยังพบว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนแมลงเม่าได้ก่อให้เกิดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์