Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีต่อร้านขายของชำดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์ในประเทศไทย รวมถึงหาทางออกทางด้านมาตรการและนโยบายเพื่อป้องกันและช่วยเหลือร้านขายของชำดั้งเดิมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านขายของชำดั้งเดิมอยู่ร่วมกันโดยมีผลกระทบต่อกันให้น้อยที่สุด วิธีการศึกษาเป็น แบบพรรณา (Descriptive) ประกอบกับข้อมูลเชิงปริมาณ เนื้อหาของวิทยานิพนธ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ พัฒนาการของร้านค้าปลีกในประเทศไทย การขยายตัวของร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์ในประเทศไทย และ กรณีศึกษาถึงผลกระทบจากการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์ที่มีต่อร้านขายของชำดั้งเดิม ผลการศึกษาพบว่า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาแตกออกไปหลายรูปแบบและขยายสาขาไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์ ซึ่งเน้นการขยายสาขาเพื่อเพิ่มยอดขายและการประหยัดต่อขนาด มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และศูนย์กระจายสินค้าเพื่อบริหารต้นทุนสินค้า จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ผู้ประกอบการดิสเคาน์สโตร์ได้ประสบปัญหาสภาพคล่อง เพราะภาวะหนี้ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จนต้องขายกิจการให้กับผู้ค้าปลีกต่างชาติในที่สุด รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่า 100 ล้านบาทสามารถเข้ามาประกอบกิจการค้า ปลีกในประเทศไทยได้ทันที ภายใต้การบริหารของต่างชาติ ดิสเคาน์สโตร์ได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นและสามารถบีบเอาส่วนต่างจากซัพพลายเออร์และผู้ผลิตโดยการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆในอัตราที่มากขึ้น ทั้งยังทำให้ร้านขายของชำปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ทำให้มีกระแสต่อต้านดิสเคาน์สโตร์ขึ้นทั่วประเทศทั้งจากซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น และร้านขายของชำดั้งเดิม ในส่วน ของผลกระทบจากการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ต่อร้านขายของชำดั้งเดิมนั้น ผลจากกรณีศึกษาพบว่า ร้านสะดวกซื้อจะส่งผลกระทบต่อร้านขายของชำในรัศมี 200 เมตรทำให้มียอดขายและจำนวนลูกค้าลดลง ในขณะที่ดิสเคาน์สโตร์จะส่งผลกระทบทางต่อร้านขายของชำทุกร้านทั่วทั้งพื้นที่การศึกษา โดยทำให้ยอดขายและจำนวนลูกค้าลดลงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่เมื่อเปรียบเทียบในรัศมี 200 เมตรแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่าผลกระทบจากร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ ดิสเคาน์สโตร์ยังส่งผลกระทบต่อร้านขายของชำทางด้านการจราจรและความเสียหายในขณะก่อสร้างอาคารอีกด้าย
อย่างไรก็ตาม ร้านขายของชำก็ได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าจากดิสเคาน์สโตร์เมื่อมีการลดราคาและได้รับผลพลอยได้จากผู้คนจำนวนมากที่เข้ามายังพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของดิสเคาน์สโตร์ ผู้ใช้บริการร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์ส่วนใหญ่ยังใช้บริการร้านขายของชำควบคู่กันไป แต่ก็ใช้บริการน้อยลงเมื่ออยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อและดิสเคาน์สโตร์มากขึ้น ทั้งนี้ ทำเลที่ตั้งของร้านขายของชำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ยังสามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ ส่วนข้อเสียของร้านขายของชำในความเห็นของผู้ใช้บริการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ คือ สินค้าเก่าเก็บ และ ไม่ติดป้ายราคาสินค้า ร้านขายของชำส่วนใหญ่ไม่มีการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มีเพียงการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการดำเนินกิจการที่แย่ลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่กระตือรือร้นที่จะปรับตัว เพราะมีอายุมากและไม่มีทายาทสืบต่อกิจการ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ร้านขายของชำจะมีบทบาทลดลงในอนาคต จากการศึกษากฎหมายค้าปลีกของต่างประเทศพบว่าแนวทางควบคุมร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในเบื้องต้นคือการกำหนดพื้นที่ก่อสร้าง และใช้วิธีกำหนดเวลาให้บริการของร้านค้าปลีกแต่ละประเภทเมื่อการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยในระยะยาวอีกด้วย.