Abstract:
หลักฟังความสองฝ่าย (Audi alteram partem) เป็นลักทฤษฎีกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมและมีฐานะเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดีสำหรับคู่ความ หลักการนี้กำหนดห้ามมิให้ศาลจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่ความ หากมิได้รับฟังและมิได้ให้โอกาสแก่เขาในอันที่จะชี้แจงแสดงเหตุผลก่อน รวมทั้งกำหนดให้ศาลจะต้องเอื้ออำนวยให้คู่ความทุกฝ่ายได้รับสิทธิต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาสามารถโต้แย้งต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เช่น การจัดให้คู่ความได้รับทราบข้อกล่าวหาหรือเรื่องที่ฟ้อง รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับคดีภายในระยะเวลาอันสมควร การให้โอกาสอย่างเพียงพอสำหรับโต้แย้งคัดค้าน ในอดีต หลักฟังความสองได้รับยึดถืออย่างเคร่งครัด แต่ต่อมาเนื่องจากการบังคับใช้หลักฟังความสองฝ่ายอย่างเคร่งครัดก่อให้เกิดข้อขัดข้องในทางวิธีพิจารณา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงไปของแนวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมสมัยใหม่ที่จะต้องประกอบไปด้วยมิติแห่งความยุติธรรม 3 ประการ คือ การได้มาซึ่งคำพิพากษาที่ถูกต้อง ความรวดเร็วในการดำเนินคดี และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม จึงทำให้หลักการนี้มีข้อยกเว้นมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาทำให้สรุปได้ว่า ปัจจัยที่จะนำมายกเว้นต่อหลักฟังความสองฝ่ายได้โดยอย่างเหมาะสม ได้แก่ ความรวดเร็วในการดำเนินคดี การรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ความไม่สุจริตของคู่ความ ความฉุกเฉิน การดำเนินกระบวนพิจารณาโดยลับ การรักษาพยานหลักฐาน ความคุ้มค่าในการดำเนินคดี เละเมื่อพิจารณาถึงข้อยกเว้นหลักฟังความสองฝ่ายที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าข้อยกเว้นหลักฟังความสองฝ่ายที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยได้ยกเว้นต่อหลักฟังความสองฝ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว