Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งหมายจะศึกษาสาเหตุของการกำหนดให้ ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช ซึ่งในการศึกษานี้จะเรียกว่า "ผู้ถือบวช" เป็นบุคคลซึ้งต้องด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อันนำมาสู่เงื่อนไขที่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองประเภทอื่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การศึกษาในงานชิ้นนี้จึงเป็นการเปรียบเทียบสถานะทางกฎหมายของผู้ถือบวชในศาสนาใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม กอปรกับการศึกษาทฤษฎีว่าด้วยการรับรองสิทธิมนุษยชนในระดับสากล การรับรองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และแนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนาเพื่อพิจารณาอัตลักษณ์ของประเทศไทยที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ผู้ถือบวชเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ในทางข้อเท็จจริงมีผลแต่เพียงผู้ถือบวชในศาสนาพุทธเท่านั้น เนื่องจากศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนว่าบรรดาอิหม่าม บิหลั่น และคอเต็บ ไม่ถือเป็นนักพรต หรือนักบวช ส่วนกรณีของศาสนาคริสต์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายที่กำหนดสถานะของบุคคลที่มีความยึดโยงกับศาสนามากกว่าศาสนิกคนอื่น ให้เป็นนักพรตหรือนักบวช อันจะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือใช้สิทธิทางการเมืองประเภทอื่น กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสามประการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับศาสนาพุทธที่ทำให้เกิดเป็นแนวคิดการแบ่งแยกเรื่องทางโลกออกจากทางธรรม และนำมาสู่อัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองศาสนาพุทธมิให้มัวหมองจากการไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ประการที่สอง คือ ปัญหาความไม่ชัดเจนของความเป็นผู้ถือบวชในการตีความว่าบุคคลใดบ้างที่อาจเป็นผู้ถือบวช ซึ่งสะท้อนออกมาได้สามแง่มุม ทั้งระหว่างผู้ถือบวชในศาสนาเดียวกัน ในต่างศาสนา และระหว่างผู้ถือบวชในศาสนาที่รัฐให้การรับรองและในศาสนาที่ไม่ได้รับรอง อันนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่แตกต่างกัน ประการสุดท้ายคือ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน หรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ไม่สมเหตุสมผล ตลอดจนการที่รัฐไม่ปล่อยให้เป็นเจตจำนงของบุคคลในอันที่จะเลือกว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในฐานะพลเมืองหรือไม่