Abstract:
การขายพ่วงนั้นอาจเกิดในรูปแบบของสัญญาหรือทางเทคนิค ซึ่งการขายพ่วงทางเทคนิค (Technical tying) เป็นการขายพ่วงโดยใช้วิธีการเชื่อมสินค้าที่มีการพ่วงและสินค้าที่ถูกนำไปพ่วงด้วยวิธีการทางเทคนิคซึ่งทำให้สินค้าทั้งสองอาจแยกออกจากกันทางกายภาพได้หรือไม่ก็ได้ เมื่อสินค้าทั้งสองนั้นสามารถแยกออกจากกันได้ทางกายภาพก็จะเป็นที่ชัดเจนว่ามีสินค้าที่มีการพ่วงและสินค้าที่ถูกพ่วงเกิดขึ้น และมักสามารถนำการขายพ่วงตามข้อสัญญามาปรับใช้กับกรณีดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามในกรณีการขายพ่วงทางเทคนิคที่สินค้ามีลักษณะของการรวมกันทางกายภาพนั้นยากที่จะแยกมีสินค้าที่มีการขายพ่วงและสินค้าที่ถูกนำไปพ่วงหรือไม่ อีกทั้งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 50(2) และแนวปฏิบัติตามมาตรา 50 ไม่ได้มีการระบุถึงการขายพ่วงทางเทคนิคและแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินค้า 2 ชนิดแยกออกจากกันไว้เลย จากการศึกษากฎหมายแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศพบว่า ถึงแม้ว่ายังไม่ได้มีการวางแนววินิจฉัยเกี่ยวกับการขายพ่วงทางเทคนิคที่แน่นอนนักและคดีที่เกี่ยวข้องยังมีไม่มาก แต่ได้มีการพบว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปได้มีการกล่าวถึงการขายพ่วงทางเทคนิคไว้ในแนวปฏิบัติในเรื่องของการขายพ่วง ถึงแม้ว่าในการพิพากษาคดีจะไม่ได้ปรากฏการขายพ่วงทางเทคนิคไว้โดยตรงก็ตามแต่ก็ได้การวางหลักกฎหมายที่สามารถนำมาช่วยในการวิเคราะห์เรื่องการขายพ่วงทางเทคนิคได้ ส่วนกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐอเมริกาได้มีแนวทางในการวินิจฉัยการขายพ่วงและแนวทางในการแยกสินค้าออกจากกันที่น่าสนใจ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการปรับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กับการขายพ่วงทางเทคนิคไว้ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้