Abstract:
โรคพีอาร์อาร์เอสเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่สำคัญที่สุด ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรงจากประเทศจีนในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2553 ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างทางพันธุกรรม และศึกษาลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของไวรัสพีอาร์อาร์เอสในประเทศไทย ภายหลังการระบาดของไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรงจึงมีความสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางพันธุกรรมของไวรัสพีอาร์อาร์เอสในประเทศไทย และผลกระทบที่มีต่อลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส อันเกิดจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การศึกษานี้ ทำโดยถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสพีอาร์อาร์เอสที่ได้จากฝูงสุกรที่เกิดโรคทั้งหมด 11 ฟาร์ม ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆกัน 10 จังหวัด ใน 4 ภาค ของประเทศไทย ลำดับพันธุกรรมที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ บางส่วนของยีนเอ็นเอสพี 2 และโออาร์เอฟ 5 ซึ่งเป็นส่วนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงที่สุดของไวรัสพีอาร์อาร์เอส ผลจากการเปรียบเทียบลำดับพันธุกรรม และการวิเคราะห์แผนภูมิต้นไม้พบว่าลำดับพันธุกรรม 10 สาย ได้จาก 9 จังหวัดใน 4 ภาคของประเทศ มีการขาดหายไปของกรดอะมิโน รวม 30 กรดอะมิโน ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรงจากประเทศจีน ในขณะที่ 1 ลำดับพันธุกรรมที่เหลือ มีความใกล้เคียงและจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสพีอาร์อาร์เอสชนิดที่ 2 สายพันธุ์ประจำถิ่นที่เคยพบในประเทศไทย จากผลการศึกษานี้ สามารถสรุปได้ว่าไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรงจากประเทศจีน มีการระบาดเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และไวรัสที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากกลุ่มอาการพีอาร์อาร์เอสส่วนใหญ่ เป็นไวรัสพีอาร์อาร์เอสชนิดที่ 2 ทั้งชนิดสายพันธุ์รุนแรงและไวรัสประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไวรัสอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคในประเทศไทยต่อไป