Abstract:
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross – sectional Descriptive Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 716 คน ซึ่งถูกเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ของจิตราภรณ์ ทองกวด ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฏีของโกลแมน และแบบวัดการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว Chulalongkorn Family Inventory (CFI) นำเสนอโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์สถิติเชิงอนุมาน โดยใช้สถิติ t-test , One way ANOVA และ Multiple Linear Regression โดยกำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.93 ในขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวอยู่ในระดับดีพอสมควร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.11 ความสัมพันธ์ระหว่างความเห็นอกเห็นใจและการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ (p < 0.001) และมีความสัมพันธ์กับทุกด้านของการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวยกเว้นด้านการควบคุมพฤติกรรม และมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับปัจจัยเพศ ( p < 0.001) คะแนนเฉลี่ยสะสม ( p < 0.001) สถานะความสัมพันธ์ของบิดามารดา ( p = 0.03) และความสัมพันธ์ของนักเรียนกับมารดา ( p = 0.001) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นการช่วยให้ครอบครัวปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแข็งแรงย่อมช่วยในการเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้กับเด็กได้