Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาที่เกิดขึ้นภายหลังโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยแบ่งเป็นประเด็นในการอธิบายออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1) รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าว 2) ผลที่เกิดขึ้นจากการปรับรูปแบบความสัมพันธ์ต่อตัวแสดงทั้งสามฝ่าย และ 3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ของรัฐ ทุน และชาวนาหลังนโยบายรับจำนำข้าว ผลการวิจัยพบว่าหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐ (รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และระบบราชการ) ไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมหรือกำหนดนโยบายเองทั้งหมดเหมือนที่เคยทำได้ในสมัยที่เป็นรัฐราชการ หรือ ช่วงที่เป็นแบบภาคีรัฐ – สังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ทำให้บริบทด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเปลี่ยนไป รัฐจึงต้องค่อยๆ คลายตัว และลดบทบาทของตนเองลง ในช่วงเวลานั้นทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ และชาวนามีโอกาสได้พัฒนาตนเองจนทำให้มีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐต้องมีการปรับตัว คือการพัฒนาตนเองของชาวนาในด้านการเมืองโดยเฉพาะในช่วงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับบริบททางเศรษฐกิจที่เอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถลดการพึ่งพิงรัฐลงได้เรื่อยขณะที่รัฐกลับต้องพึ่งพาการลงทุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งต้องสร้างการยอมรับจากทุนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวนาแทนระบบราชการในท้องถิ่น และต้องการการยอมรับจากชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มพลังสำคัญทางการเมือง รัฐจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้คนจากกลุ่มอื่นได้เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด และดำเนินนโยบายมากกว่ากลุ่มอื่นๆแต่กระนั้น รัฐก็มิได้ปล่อยให้อำนาจในการต่อรอง หรือกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo – Liberalism)เสียทีเดียว กล่าวคือ รัฐยังคงมีการแทรกแซง และกุมอำนาจอยู่ และยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ชาวนาได้เข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่เคยมีในช่วงรัฐบาลที่ผ่านๆ มาดังนั้นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าวจึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า รัฐในยุคของ คสช. จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทุนท้องถิ่น และชาวนาผ่านการดำเนินนโยบายในลักษณะประชานิยมต่างๆ รัฐยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาและเอื้อประโยชน์ให้กับทุนขนาดใหญ่เป็นหลักเช่นเดิม