Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. ศึกษาการจัดตั้งองค์กรพัฒนาการและปัญหาของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี จำกัด 2. ทำความเข้าใจอำนาจทางการเมืองของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี จำกัด ผ่านทางการศึกษาความสัมพันธ์ของชุมนุมสหกรณ์ฯ กับภาคส่วนต่าง ๆ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ หน่วยในการศึกษาได้แก่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี และเครือข่ายของชุมนุมสหกรณ์ฯ ภายในจังหวัดอุบลราชธานี โดยศึกษาจาก เอกสาร รายงาน งานวิจัยต่าง ๆ หนังสือ สื่อทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ ประกอบกับการทำวิจัยภาคสนาม โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานชุมนุมสหกรณ์ฯ ทั้งยังใช้วิธีการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของชุมนุมสหกรณ์ฯ ข้อมูลที่ได้นำมารวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการศึกษาด้านการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี จำกัดนั้น พบว่า การจัดตั้งชุมนุมฯ มาจากความต้องการรวมตัวของเกษตรกรเอง เนื่องจากเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในการขายยางพารา ได้แก่ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ความต้องการศูนย์กลางตลาดยางพารา ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ และสามารถรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ แต่ปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญที่สุดในการจัดตั้งชุมนุมฯ คือการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์จากากรรวมตัวของกลุ่มเกษตร เนื่องจากภาครัฐสามารถได้ข้อมูลจากเกษตรกรได้ดีในเงื่อนไขที่มีการรวมกลุ่มกัน ทำให้ภาครัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดด้านการสร้างอำนาจทางการเมืองให้กับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี จำกัด ผลการศึกษาพบว่า อำนาจทางการเมืองของชุมนุมสหกรณ์ฯ วัดได้จากความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ห้าด้านดังนี้คือ 1. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับนักการเมือง พบว่านักการเมืองเป็นคนสำคัญที่จะช่วยเจรจาต่อรองระหว่าง ชุมนุมสหกรณ์กับภาครัฐ เมื่อนักการเมืองมีอำนาจลดลงทำให้เกิดความอ่อนแอของชุมนุมสหกรณ์อย่างเห็นได้ชัด 2. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับภาครัฐส่วนกลาง จะเห็นได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่รัฐให้การสนับสนุน และชุมนุมสหกรณ์ต้องพึ่งพิง ซึ่งไม่ได้มีอำนาจแบบเท่าเทียมกัน 3. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับภาครัฐส่วนภูมิภาค ประเด็นนี้พบว่าไม่มีความแน่นอน ไม่ได้มีลักษณะตายตัว หรือเป็นสถาบัน แต่ขึ้นอยู่กับ ตัวข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ หากข้าราชการฝ่ายปกครองให้ความสนใจประเด็นปัญหายางพารา ชุมนุมสหกรณ์ฯ ก็จะได้รับการช่วยเหลือดูแลและประสานงานอย่างดี ทั้งนี้ขึ้นกับข้าราชการที่ย้ายมารับตำแหน่ง 4. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าความสัมพันธ์ด้านนี้นั้น ขึ้นกับบรรยากาศและบริบททางการเมือง ในบรรยากาศที่มีประชาธิปไตยและมีการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองท้องถิ่นมีสายสัมพันธ์ที่ดี และเอื้อประโยชน์ให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯอย่างมาก และ 5. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับพ่อค้าคนกลาง จะเห็นได้ว่าการรวมตัวกันของชาวสวนยางมีประโยชน์ให้เกิดอำนาจต่อรองมากกว่าชาวสวนยางในลักษณะปัจเจกบุคคล