Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ต้องการศึกษาปัจจัยที่ทำให้รัสเซียในสมัยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลระหว่างค.ศ. 2000 ถึง 2008 ทั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาปัจจัยในสามระดับ ได้แก่ 1. ตัวแสดงระดับปัจเจกบุคคล 2. ตัวแสดงระดับภายในประเทศ 3. ตัวแสดงระดับระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าปัจจัยใดที่ส่งผลให้ท่าทีของรัสเซียแข็งกร้าว ซึ่งแตกต่างจากสมัยแรกของประธานาธิบดีปูตินรัสเซียที่ยังพยายามเจรจาแก้ไขกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในสมัยที่สองเมื่อรัสเซียเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจบนหมู่เกาะและมีการประจำกองทัพโดยมีเป้าหมายหลักด้านความมั่นคง การศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้รัสเซียดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นเพราะตัวแสดงระดับภายในประเทศและตัวแสดงระดับระหว่างประเทศ เพราะในสมัยแรกรัสเซียยังยินดีที่จะเจรจาตามปฏิญญาร่วมระหว่างอดีตสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่น ค.ศ. 1956 ซึ่งรัสเซียตกลงที่จะคืนเกาะชิโกตันและเกาะฮาโบไมซึ่งเป็นสองเกาะเล็กให้ญี่ปุ่น แต่ท่าทีของรัสเซียในสมัยที่สองได้เปลี่ยนแปลงไป รัสเซียยังคงยืนกรานอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะคูริลและแสดงท่าทีแข็งกร้าวที่จะไม่คืนแม้แต่เกาะชิโกตันและเกาะฮาโบไมให้ญี่ปุ่น บทบาทของตัวแสดงระดับภายในประเทศที่มีผลอย่างมากต่อท่าทีของรัสเซีย คือ สภาดูม่าซาคาลินส์ซึ่งต่อต้านการยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในรัสเซีย เพราะในตอนแรกรัฐบาลซึ่งนำโดยประธานาธิบดีปูตินมีท่าทีประนีประนอมต่อการแก้ไขกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล ส่วนบทบาทตัวแสดงระดับระหว่างประเทศที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรหลักของญี่ปุ่น ยิ่งทำให้รัสเซียหวั่นเกรงเรื่องความมั่นคงเพราะหากรัสเซียยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาอาจจะเข้ามาตั้งฐานทัพในหมู่เกาะคูริลได้ในอนาคต บทบาทของตัวแสดงระดับภายในประเทศและตัวแสดงระดับระหว่างประเทศส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่นได้