Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจาร รวมทั้งศึกษาแนวคิดและเนื้อหาของการใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัดในความผิดทางเพศของต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้กับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจารยังมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่อาจอ้างความไม่รู้อายุของเด็กซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคสามได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกรณีจับกุมผู้บริสุทธิ์ และเป็นการละเมิดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลย นอกจากนี้อาจเป็นการเปิดช่องให้เด็กหรือผู้ปกครองของเด็กใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติความผิดทางเพศของต่างประเทศแล้วพบว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมิได้นำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้กับความผิดทางเพศแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสมาพันธรัฐสวิส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีการนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้กับความผิดทางเพศ โดยมีแนวทางในการใช้หลักดังกล่าวแตกต่างกันไป เช่น มีการกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ หรือลดหย่อนโทษ ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนวิทยานิพนธ์จึงเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงการกำหนดบทบัญญัติความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัดในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจาร โดยการสร้างข้อยกเว้นของหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด เพื่อเปิดช่องให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินกระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น