Abstract:
การศึกษาเรื่อง “การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีในประเทศไทยตามข้อกำหนด (Bangkok Rules” นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีในทัณฑสถานหญิงและเรือนจำที่ควบคุมผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีในประเทศไทยให้สอดคล้องตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีที่อาศัยอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจำนวน 9 คน ผู้ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรวม 6 คน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทัณฑวิทยา ผลการศึกษาพบว่าปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีในทัณฑสถานหญิงและเรือนจำ ได้แก่ ปัญหาด้านสถานที่คับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง ส่งผลให้ไม่สามารถแยกคุมขังได้ รวมถึงพื้นที่ไม่มีสัดส่วนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้านงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง ระยะเวลาทำกิจกรรมส่วนตัวไม่เพียงพอ/การไม่มีน้ำใช้ คุณภาพอาหารของเรือนจำบางแห่งไม่เหมาะสม การเยี่ยมญาติของเรือนจำบางแห่งแตกต่างจากที่อื่น ซึ่งให้เยี่ยมน้อยเกินไป ผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคเฉพาะไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขังและขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และขาดมาตรการทางเลือกในการเลี่ยงผู้กระทำผิดเข้าสู่เรือนจำ การค้นพบที่สำคัญในการวิจัยครั้งนี้คือ เรื่องการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังที่อดีตเคยมีการค้นลุกล้ำเข้าไปในร่างกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง โดยจากการศึกษาไม่พบการปฏิบัติเช่นนั้นแก่ผู้ต้องขังแล้ว ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา มีดังนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1)ข้อเสนอให้มีการลดการควบคุมผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำ 2)ข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ราชทัณฑ์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีให้มีความชัดเจน 3)ควรมีการใช้มาตรการเลี่ยงโทษจำคุก ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการต่อทัณฑสถาน 1)ควรเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสัดส่วนที่มากขึ้น 2) ควรเพิ่มเวลาการทำกิจกรรมส่วนตัว ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการต่อเรือนจำชายที่มีแดนหญิง 1) ควรเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ 2)ควรปรับปรุงคุณภาพและปริมาณของอาหารให้เพิ่มมากขึ้น 3) ควรเพิ่มการเยี่ยมญาติ 4) ควรให้เจ้าหน้าที่คัดกรองผู้ต้องขังหญิงระหว่างพิจารณาคดีที่มีโรคประจำตัวเพื่อรับการรักษาที่ต่อเนื่องและป้องกันไม่ให้มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น