Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาความสัมพันธ์การพัฒนาเมืองภูเก็ตกับการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง ปัจจุบัน โดยมุ่งทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในอำนาจของนักการเมืองท้องถิ่นกับพื้นที่เมืองในระดับนคร ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจการเมือง โดยมีคำถามการวิจัยคือ 1) ลักษณะการพัฒนาทุนนิยมของจังหวัดภูเก็ตเชื่อมโยงหรือมีผลต่อการเมืองท้องถิ่นอย่างไรและ 2) ทุนนิยมชนิดใดทีเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เมืองภูเก็ตเกิดการพัฒนา การศึกษาครั้งนี้ได้อาศัยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการศึกษาพื้นที่เมืองของเทศบาลนครภูเก็ต ผลการศึกษาพบว่าทุนนิยมในเมืองนครภูเก็ตตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบัน ประกอบไปด้วยทุนนิยมเหมืองแร่ และทุนนิยมวัฒนธรรม โดยทุนนิยมเหมืองแร่มีทุนทรัพยากรเป็นพื้นฐานที่สำคัญหลังจากกิจการเหมืองแร่เริ่มซบเซา เมืองภูเก็ตมีสภาพเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก จนกระทั่งนักการเมืองท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ตได้เล็งเห็นถึงการนำทุนอุตสาหกรรมและทุนภาคบริการมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง นับจากนั้นเพียงไม่นานทุนดังกล่าวก็ได้หล่อรวมเกิดเป็นทุนนิยมวัฒนธรรมขึ้นในพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งทำให้นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ามาแย่งชิงอำนาจในพื้นที่เมืองแห่งนี้ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของเมืองนครภูเก็ตผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ทำให้พื้นที่เมืองถูกขยายและพัฒนาออกไป ระบบทุนนิยมวัฒนธรรมวัฒนธรรมส่งผลต่อเศรษฐกิจเมืองและเมื่อเศรษฐกิจเป็นตัวชี้นำทิศทางของการเมืองได้ การแพ้ชนะในการแข่งขันของการเมืองท้องถิ่นจึงเป็นการแพ้ชนะกันด้วยโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดทุนนิยมวัฒนธรรมขึ้น คือ การเมืองท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ตซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่ากลุ่มการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีมีมีเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มคนหนุ่ม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มล้วนแล้วแต่เป็นนายทุนในพื้นที่ที่มีการสะสมทุนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคทุนนิยมเหมืองแร่ ดังนั้นนครภูเก็ตตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั้งถึงปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยทุนนิยมที่เรียกว่าทุนนิยมวัฒนธรรม