Abstract:
เหตุผลของการทำวิจัย: การมีความสัมพันธ์แบบคู่รักเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งในพัฒนาการของมนุษย์สำหรับวัยผู้ใหญ่ตอนต้นตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ Erikson ความสำเร็จในพัฒนาการลำดับขั้นนี้ จะนำไปสู่ความสามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีพันธะสัญญาต่อกัน แต่หากล้มเหลว ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างในใจ ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจรักษาหรือยุติความสัมพันธ์ก็คือความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาในเรื่องนี้ โดยเลือกศึกษาในนิสิตที่มีอายุช่วง 21 – 22 ปี ซึ่งตรงกับช่วงเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นตามทฤษฎีของ Erikson และมีการศึกษาว่ามักมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ โดยผลการศึกษาที่ได้ จะสะท้อนภาพรวมของนิสิตรวมถึงเป็นองค์ความรู้ใหม่แก่ผู้ที่สนใจศึกษาต่อยอดในอนาคตได้ วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคู่รักและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคู่รัก ของนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวอย่างและวิธีการศึกษา: ศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 จาก 10 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีคู่รักและมีระยะเวลาคบหาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน คำนวณจำนวนตัวอย่างแบ่งตามเพศและกลุ่มสาขาวิชาที่นิสิตศึกษาอยู่ตามสัดส่วนประชากร เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล มาตรวัดองค์ประกอบความรัก และมาตรวัดความพึงพอใจในความสัมพันธ์ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 433 คน มีค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจในความสัมพันธ์ที่ 4.00 ± 0.57 (Likert scale 1 – 5) ส่วนใหญ่พึงพอใจอยู่ในระดับมาก 55.7% ระดับมากที่สุด 23.3% และระดับปานกลาง 20.5% จากการวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยและการวิเคราะห์ความแปรปรวน พบปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ สถานภาพการพักอาศัย ระดับความพึงพอใจในชีวิต ระยะเวลาของความสัมพันธ์กับคู่รัก การเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อเพื่อน และการเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อครอบครัว จากการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร พบว่าสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจในชีวิต คะแนนองค์ประกอบความรักด้านความใกล้ชิด ความหลงใหล และความผูกมัด จากการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุ พบตัวแปรทำนายคือ คะแนนองค์ประกอบความรักด้านความใกล้ชิด ความผูกมัด ระดับความพึงพอใจในชีวิต และระยะเวลาของความสัมพันธ์กับคู่รัก สรุปผลการศึกษา: การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มากกว่า 75% มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และมากกว่า 99% อยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป นอกจากนี้ ได้อธิบายถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อค้นพบนี้สามารถนำไปใช้อ้างอิง และศึกษาต่อเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นได้