Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหา สาเหตุ และปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาการลักลอบ ล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย วิเคราะห์ผลการศึกษาและบรรยายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยภาคสนาม (Field Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ กลุ่มนายพราน กลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมาย และกลุ่มองค์กรอิสระด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวม 13 คน ผลการศึกษา มีข้อมูลทางสถิติแสดงว่าสภาพปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีความรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่ป่า ภาคตะวันตกของประเทศไทย รองลงมาเป็นพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรูปแบบการลักลอบล่าสัตว์ป่าในบริบทของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) เพื่อการดำรงชีพ (2) เพื่อการค้า (3) เพื่อการพักผ่อน และ (4) เพื่อการแข่งขันหรือกีฬา สาเหตุของการลักลอบล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเกิดจาก (1) ปัญหาความยากจนของครัวเรือน (Poverty) (2) ความต้องการโอกาสทางสังคม (Social Opportunity) (3) แรงกดดันทางสังคม (Social Pressures) (4) ค่านิยมเฉพาะกลุ่ม (Group Value) (5) ความเชื่อท้องถิ่น (Local Belief) (6) การเพิ่มมูลค่าของสัตว์ป่าในทางเศรษฐศาสตร์ (Wildlife Economic Value Added) (7) การเข้ามาของกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ (Capitalist) (8) ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย (Legal Gap) และ (9) การไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด (Intrepidity of commit an offence) ซึ่งสามารถสรุปกลุ่มเป็น 5 ปัจจัย ได้แก่ (1) ความไม่เสมอภาคทางสังคม (Social Inequality) (2) ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Weakness of Criminal Justice System) (3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (Economic Disparity) (4) ค่านิยม (Values) และ (5) ความเชื่อ (Belief) ในมุมมองอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยเสนอแนะให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) เร่งสร้าง ความเสมอภาคในทางสังคม (2) แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยเปิดโอกาสให้สามารถใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าบางชนิดในเชิงพาณิชย์ได้ (3) ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า (4) ปรับปรุงกระบวนการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่า (5) สร้างพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมกัน และ (6) บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสัตว์ป่า