Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบบรรยายเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือในการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ และศึกษาปัจจัยทำนายความร่วมมือในการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ จากปัจจัยด้าน อายุ ความเชื่อเกี่ยวกับความจำเป็นของยา ความกังวลเกี่ยวกับยา การรับรู้ความรุนแรงของโรค ความรู้ ภาวะซึมเศร้า และสัมพันธภาพกับแพทย์หรือพยาบาล กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ อย่างน้อย 3 เดือน อายุ 18-59 ปี มีระดับความรู้สึกตัวปกติ สามารถจัดยารับประทานได้ด้วยตนเอง และไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคทางจิตเวช ที่มารับบริการที่คลินิกโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันประสาทวิทยา รวม 130 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 9 ส่วน ได้แก่ 1) แบบทดสอบสมรรถภาพสมองของไทย (TMSE) 2) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 3) แบบบันทึกข้อมูลทางด้านสุขภาพ 4) แบบสอบถามความเชื่อเกี่ยวกับยา 5) แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง 6) แบบสอบถามการรับรู้ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง 7) แบบประเมินสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือพยาบาล 8) แบบประเมินภาวะซึมเศร้า และ9) แบบสอบถามความร่วมมือในการรับประทานยา ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มีดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ 0.80, 1.00, 1.00, 1.00, 1.00 และ 1.00 ตามลำดับ ส่วนที่ 4, 6, 7, 8 และ 9 มีค่าความสอดคล้องภายในจากการคำนวนค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาค เท่ากับ .78, .87, .78, .83 และ .74 ตามลำดับ ส่วนที่ 5 มีค่า KR-20 เท่ากับ .74 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการศึกษา พบว่า 1) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบร้อยละ 35.38 มีความร่วมมือในการรับประทานยา 2) ปัจจัยทำนายความร่วมมือในการรับประทานยา ประกอบด้วย 4 ตัวแปร ได้แก่ การรับรู้ความรุนแรงของโรค ความรู้ ภาวะซึมเศร้า และความเชื่อเกี่ยวกับความจำเป็นของยา โดยสามารถร่วมกันทำนายความร่วมมือในการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ร้อยละ 46.3 (Adjusted R2=.463) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับปัจจัย อายุ สัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือพยาบาล และความกังวลเกี่ยวกับยา ไม่สามารถทำนายความร่วมมือในการรับประทานยาได้