Abstract:
การวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย เป็นการศึกษาพฤติกรรมการแข่งขันของผู้ประกอบการรายสำคัญในตลาดรถจักรยานยนต์ของไทย อันได้แก่ ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ และคาวาซากิ ตลอดจนศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานรถจักรยานยนต์ และศึกษาความรุนแรงในการกระจุกตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ วิธีการศึกษาเริ่มจากการศึกษาความเป็นมาของอุตสาหกรรรม ช่วงปี 2526-2542 ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การแข่งขัน และการนำเข้าส่งออก แล้วทำการศึกษาหาอุปสงค์และอุปทานรถจักรยานยนต์โดยวิธี Two Stage-least Squares แล้ววัดอัตราการกระจุกตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ โดยใช้ดัชนีต่างๆ คือ Concentration Ratio , Herfindahl Summary Index และ Comprehensive Concentration Index และศึกษาพฤติกรรมการแข่งขันในตลาดรถจักรยานยนต์ โดยใช้ Bertand Model เพื่อหา Reaction Function ของผู้ประกอบการ โดยแบ่งรถจักรยานยนต์เป็น 3 ประเภท คือแบบครอบครัว แบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต และแบบสปอร์ต ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์อย่างมีนัยสำคัญคือ ราคา รายได้ประชาชาติ และราคานํ้ามัน ส่วนปัจจัยทางด้านอุปทาน คือ ราคา อัตราดอกเบี้ย และดัชนีที่ผู้ผลิตคาดหวังโดยรูปแบบสมการที่เหมาะสมทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ใช้ในการวิเคราะห์คือสมการลอการิมทึ่ม ด้านความรุนแรงในการกระจุกตัวพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจผูกขาดในตลาดอยู่และพฤติกรรมการแข่งขันในตลาดรถจักรยานยนต์เป็นการแข่งขันที่ไม่ใช้ราคา การปรับเปลี่ยนราคาที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากต้นทุนที่เปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนรุ่นรถจักรยานยนต์ สำหรับการโฆษณานั้นพบว่าไม่มีความสำคัญในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นการโฆษณาที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมของผู้ประกอบการ