Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านดุริยางคศิลป์ ชุด พระนางจามเทวี และสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์ ชุด พระนางจามเทวี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิธีการพรรณาวิเคราะห์ ด้วยการศึกษาข้อมูลเอกสารและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านประวัติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดุริยางคศิลป์ไทย นำเสนอผลการวิจัยด้วยการสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์ ผลงานสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์ ชุด พระนางจามเทวี เป็นการประพันธ์บทเพลงขึ้นใหม่ โดยไม่ได้อาศัย เค้าโครงจากเพลงไทยที่มีอยู่เดิม เป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านดุริยางคศิลป์และด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลบทเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ มาสร้างสรรค์ผลงานโดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชประวัติของพระนางจามเทวี ประกอบด้วย 5 บทเพลง คือ เพลงฤๅษีสร้างเมือง เพลงเดินทาง เพลงพี่น้องสองกษัตริย์ เพลงช้างก่ำงาเขียว และเพลงครองราชย์ บรรเลงติดต่อกันเป็นชุด ขึ้นด้วยส่วนนำบทเพลง บรรเลงด้วยเประห์ต่อด้วยบทสวดสรรเสริญและคาถาบูชาพระนางจามเทวี แล้วจึงบรรเลงบทเพลงทั้ง 5 ในระหว่างบทเพลงนำจังหวะกลองของเพลงถัดไปเป็นทำนองเชื่อม ยกเว้นเพลงช้างก่ำงาเขียว เมื่อจบเพลงแล้วให้หยุดพร้อมกันทั้งวง แล้วฆ้องมอญวงใหญ่ขึ้นเพลงในลำดับสุดท้าย วงดนตรีที่ใช้บรรเลงได้แก่ วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ วงเครื่องสายมอญผสมเครื่องสายไทย และวงปี่พาทย์พื้นเมืองล้านนา (วงป้าดก๊อง) เพลงทั้งหมดเป็นเพลงสำเนียงมอญ เพลงที่ 3 มีเที่ยวเปลี่ยนสำเนียงลาวเป็นทำนองแทรกในเพลง เนื่องจากพระนางจามเทวีมีความเป็นมาร่วมยุคทวารวดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมอญ และเป็นเรื่องราวที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้มีเครื่องดนตรีพิเศษได้แก่ เประห์ เครื่องดนตรีของชนเผ่าลัวะ เพื่อสื่อถึงกลุ่มชนพื้นเมืองก่อนการตั้งเมืองหริภุญชัย สังข์ ใช้เลียนเสียงธรรมชาติคือ เสียงนกหัสดีลิงค์และเสียงช้าง กังสดาลและกระดิ่งตีขณะสวดบทสรรเสริญพระนางจามเทวี และใช้กลองแขกตีกำกับหน้าทับลาวในเพลงพี่น้องสองกษัตริย์ สื่อความหมายถึงเจ้าอนันตยศที่ขึ้นครองราชย์ที่เขลางค์นคร