Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการแสดงความตลกในนาฏกรรมไทย โดยมุ่งเน้นนาฏกรรมที่ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ และศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์ความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย ผ่านการศึกษารายการประเภทต่าง ๆ ที่ออกอากาศ ในช่วงปี พ.ศ. 2560 การศึกษาครั้งนี้เป็น การวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบการวิเคราะห์สาระและการพรรณนาวิเคราะห์ ผ่านกระบวนการเก็บข้อมูล จากเอกสารต่าง ๆ การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การสร้างสรรค์ความตลกในนาฏกรรมไทย นอกจากนี้ผู้ศึกษาได้ดำเนินการศึกษาผ่านการสนทนากลุ่ม (Focus Group) นักศึกษาสาขาวิชาการแสดงศึกษา จำนวน 40 คน ผลการศึกษาพัฒนาการของการแสดงความตลกในนาฏกรรมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์พบว่าบทบาทการแสดงความตลกสะท้อนให้เห็นผ่านการแสดงประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การสวดพระ การสวดคฤหัสถ์ เพลงออกภาษา การแสดงละครนอก การแสดงจำอวด ละครเสภา ละครชาตรี ละครพันทาง ละครสังคีต การแสดงตลกโขน ระบำตลก การแสดงลิเก ละครพูดชวนหัว การแสดงละครย่อย (การเล่นหน้าม่าน) ตลกคาเฟ่ และละครตลกสถานการณ์ทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังปรากฏผ่านวรรณกรรมเช่น บทละครนอก บทละครเรื่องระเด่นลันได และบทละครสุขนาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ในปัจจุบันจะพบว่ารายการโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ มักนำความตลกเข้าไปเป็นตัวขับเคลื่อนรายการเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและการได้รับ ความนิยมจากสังคม ผลการศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์ความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย จำนวน 8 รายการ ตามกลวิธีที่ได้สร้างขึ้นนั้น พบว่ารายการที่อิงจากความจริง ประเภทข่าว นิยมสร้างอารมณ์ขันผ่านกลวิธีการล้อเลียนเสียดสีมากที่สุด ส่วนรายการประเภทอิงจากความจริง ประเภทสารคดีบันเทิง รายการให้ความบันเทิง ประเภทประกวดแข่งขัน รายการให้ความบันเทิง ประเภทสนทนา นิยมใช้กลวิธีการสร้างความตลกด้วยกลวิธีการเล่นตลกกับภาษามากที่สุด ทั้งนี้การนำความตลกมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในรายการ มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย อาทิ เพื่อสะท้อนทัศนคติ มุมมองเชิงความคิด และที่สำคัญคือเพื่อขับเคลื่อนรายการให้น่าสนใจและต้องกับรสนิยมของคนไทยที่นิยมความสนุกสนานรื่นเริงและนิยมการลดระดับสิ่งที่เป็นความจริงจัง