Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาพัฒนาการของการฝึกฝนนาฏกรรม และวิเคราะห์สถานภาพของการฝึกฝนและสร้างสรรค์นาฏกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เริ่มจากศึกษาหลักสูตรนาฏกรรมของนานาชาติ ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนาฏกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงพ.ศ.2561 กับการศึกษาสถานภาพและทิศทางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต่อนาฏกรรมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึง พ.ศ. 2561 จากการวิจัยพบว่า การฝึกฝนนาฏกรรมของประเทศต่าง ๆ ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกในศตวรรษที่ 21 เน้นการสร้างทักษะตามแบบของเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีจุดร่วมหลายประการที่สถาบันอุดมศึกษาด้านนาฏกรรมของไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี การฝึกฝนนาฏกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงระบบอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นระบบการเรียนแบบดั้งเดิม มาถึงระบบการศึกษาในสถาบันที่ดำเนินไปตามหลักสูตรแบบเน้นกระบวนการคิด โดยผู้วิจัยสามารถแบ่งยุคทางด้านนาฏกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ ยุคบุกเบิก ยุคกิจกรรมงานละครวันปิดภาค ยุคนาฏกรรมในระบบการเรียนการสอนและละครประจำปีของแต่ละคณะ ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และยุคนิเวศนวัตกรรม ผลการวิจัยแสดงว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเสมือนต้นแบบที่สำคัญ 4 ประการด้วยกัน เป็นจุดเชื่อมระบบการถ่ายทอดนาฏกรรมแบบดั้งเดิมสู่ระบบการศึกษาแบบสถาบัน เป็นจุดผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและตะวันตก เป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดทางนาฏกรรมที่หลากหลาย และเป็นแบบอย่างของการฝึกฝนและพัฒนานาฏกรรมในประเทศไทย และในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สร้างแนวคิดการบูรณาการข้ามศาสตร์ด้านนาฏกรรมขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อันเป็นวิถีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ด้วยรูปแบบการสร้างนาฏกรรมร่วมกันของนิสิตและคณาจารย์ทุกคณะซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะทางนาฏกรรมของชาติโดยแท้จริง